แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จ. ผู้เฝ้าบ้านของ น. กำลังถากหญ้าอยู่หน้าบ้าน ได้ยินเสียงแกรกในบ้าน จึงเดินไปเปิดประตู แต่เปิดไม่ออก ขณะเรียกบุตรของ น. อยู่ จำเลยที่ 1 เข้ามาจับมือ จ. และบอกให้เข้าไปในบ้าน และไม่ให้ส่งเสียงดัง ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังลักทรัพย์ของเจ้าทรัพย์อยู่ การกระทำของจำเลยที่ 1ดังกล่าวเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย จ. ถือได้ว่าจำเลยร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีมีดเป็นอาวุธและร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้อาวุธขู่เข็ญจะทำร้าย จ. ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือขู่เข็ญจะทำร้าย จ. กลับได้ความว่าจำเลยเพียงแต่ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย จ. ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสารสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย ศาลลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธ บังอาจร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายแนม ชุมเชื้อ ไป โดยจำเลยใช้อาวุธขู่เข็ญนางเจิม ชุ่มเชื้อ ผู้เฝ้าบ้านของนายแนม ชุมเชื้อว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหากขัดขืนหรือส่งเสียงดังขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,856 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 10 ปี จำเลยที่ 3อายุไม่เกิน 14 ปี ให้ส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดสงขลาจนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปี ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,856 บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(8)(12) จำเลยที่ 3 อายุ 14 ปี เห็นสมควรให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74(2) โดยให้มอบตัวแก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป กำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังจำเลยที่ 3 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายภายใน 2 ปีถ้าจำเลยที่ 3 ก่อเหตุร้ายขึ้นภายในกำหนด ให้ปรับบิดามารดาหรือผู้ปกครองครั้งละ 500 บาท ถ้าไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองมารับตัวภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ให้จัดการตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,856 บาท แก่เจ้าทรัพย์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา นางเจิมกำลังถากหญ้าอยู่หน้าบ้าน ได้ยินเสียงแกรกในบ้าน จึงเดินไปเปิดประตู แต่เปิดไม่ออกขณะเรียกบุตรนายแนม จำเลยที่ 1 เข้ามาจับมือนางเจิมและบอกให้เข้าไปในบ้าน เมื่อมีคนเปิดประตูแล้ว นางเจิมเข้าไปยืนในบ้านจำเลยที่ 1 ไปยืนที่ประตูบ้านและบอกไม่ให้นางเจิมส่งเสียงดังขณะนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังลักทรัพย์ของเจ้าทรัพย์อยู่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายนางเจิมแล้ว ถือได้ว่าจำเลยร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
คดีนี้ถึงหากโจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธ บังอาจร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธขู่เข็ญนางเจิมว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหากขัดขืนหรือส่งเสียงดัง แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ หรือใช้อาวุธขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายนางเจิม กลับได้ความว่าจำเลยเพียงแต่ปล้นทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายนางเจิมแล้ว ถือได้ว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 1 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2ไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้คนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 3 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,856 บาทแก่เจ้าทรัพย์