คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานกระทำอนาจาร โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความจึงไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายพยานโจทก์ปากอื่นเพียงเห็นจำเลยกับผู้เสียหายยืนอยู่ใกล้ประตูเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุพร้อมสามีผู้เสียหายเห็นผู้เสียหายเปิดประตูด้านหน้าออกมาพร้อมกับจำเลย ขณะนั้นผู้เสียหายนุ่งผ้ากระโจมอก นอกจากนี้ มีดคัทเตอร์ ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยใช้เป็นอาวุธขู่บังคับผู้เสียหายให้ถอดเสื้อผ้าก็ไม่พบพยานหลักฐานโจทก์เพียงบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ให้การว่าผู้เสียหายถูกจำเลยใช้มีดคัทเตอร์ บังคับให้ถอดเสื้อผ้าและใช้ผ้ามัดปากมัดมือผู้เสียหายไขว้หลังให้นอนคว่ำหน้าบนเตียงนอนจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยฐานอนาจารได้ จำเลยรู้จักกับผู้เสียหาย และจำเลยเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายยินยอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ใบมีดโกน ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ศาลย่อมไม่มีอำนาจริบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา กระทำอนาจารผู้เสียหาย และบุกรุก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 278, 364, 365, 91, 80, 33พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ริบของกลางและนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1500/2532คดีอาญาหมายเลขดำที่ 3180/2532 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่2879/2533 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364, 365(1)(3), 278 เป็นความผิดกรรมเดียว ลงโทษข้อหากระทำอนาจารตามมาตรา 278 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 3 ปี ริบมีดโกนของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3180/2532, 2879/2533, 3701/2533 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาฐานบุกรุกและกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365(1)(3), 278 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจาร โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหาย คงมีแต่นายวิเชียร ณรงค์เลิศธงไชยสามีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อพยานเคาะประตูด้านหลังเรียกผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายไม่เปิดประตูรับพยานจึงปืนดูที่ช่องกระจกเหนือประตู เห็นผู้เสียหายกับจำเลยยืนอยู่ใกล้ประตูด้านหน้า พยานเข้าใจว่าเป็นคนร้ายจึงรีบไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจจากปากคำของนายวิเชียรจึงฟังไม่ได้ว่านายวิเชียรเห็นผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำอนาจารและได้ความจากสิบตำรวจโทพนม แสงนิล พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่า เมื่อสิบตำรวจโทพนมไปถึงที่เกิดเหตุพร้อมกับนายวิเชียรได้เห็นผู้เสียหายเปิดประตูด้านหน้าออกมาพร้อมกับจำเลยขณะนั้นผู้เสียหายนุ่งผ้ากระโจมอก นอกจากนี้มีดคัทเตอร์ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยใช้เป็นอาวุธขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดเสื้อผ้าก็ไม่พบ พยานหลักฐานโจทก์เพียงบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ให้การว่าผู้เสียหายถูกจำเลยใช้มีดคัทเตอร์บังคับให้ถอดเสื้อผ้าและใช้ผ้ามัดปากมัดมือผู้เสียหายไขว้หลัง ให้นอนคว่ำหน้าบนเตียงนอน จึงไม่มีน้าหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารได้ ส่วนความผิดฐานบุกรุกนั้น เห็นว่า เมื่อนายวิเชียรพาสิบตำรวจโทพนมไปจับกุมจำเลย ผู้เสียหายได้ไขกุญแจประตูด้านหน้าให้จำเลยออกมา ข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าจำเลยได้เข้ามาทางประตูด้านหลัง ซึ่งหลุดและเปิดออกได้จึงไม่น่าเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะหากจำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องทางประตูด้านหลังจำเลยก็น่าจะหลบหนีออกทางประตูด้านหลังได้โดยไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายไขกุญแจประตูด้านหน้า รูปคดีน่าเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยรู้จักกับผู้เสียหายและจำเลยเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุโดยผู้เสียหายยินยอมจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาฐานบุกรุกและกระทำอนาจารผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่งสำหรับใบมีดโกนของกลางนั้นข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ศาลไม่มีอำนาจริบที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้ริบของกลางจึงมิชอบ
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share