แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะค้นหาเจตนาของจำเลยว่ารู้หรือไม่ว่าหนังสือรับรองความประพฤติทั้ง 20 ฉบับ เป็นเอกสารปลอม จำเป็นจะต้องอาศัยเหตุผลกรณีแวดล้อมและพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย จำเลยเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ในระหว่างที่จำเลยทำงานอยู่ที่บริษัทพ. จำเลยมีหน้าที่เพียงเป็นผู้ส่งหนังสือ ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท สภาพหรือฐานะของจำเลยเป็นเพียงเด็กรับใช้หรือนักการภารโรง คงไม่มีโอกาสรู้ถึงนโยบายการบริหารงานของบริษัทและไม่รู้ว่าหนังสือรับรองความประพฤติซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษทั้งฉบับเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือเป็นเอกสารปลอม ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การยืนยันมาโดยตลอดว่า น. เจ้าหน้าที่บริษัท พ. เป็นผู้วานให้จำเลยนำหนังสือรับรองความประพฤติไปให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยรับรอง โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบริษัท พ. ได้พบใบรับรองความประพฤติปลอมอีก 18 ฉบับในตู้เก็บเอกสารของ น.ซึ่งหลบหนีไปแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แต่หนังสือรับรองความประพฤติปลอมเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด สมควรให้ริบ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นซึ่งดวงตรากระทรวงการต่างประเทศ และร่วมกับพวกทำปลอมหนังสือรับรองความประพฤติอันเป็นเอกสารราชการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมตำรวจ และร่วมกันปลอมเอกสารราชการอื่น แล้วนำหนังสือรับรองความประพฤติปลอมไปใช้อ้างในการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 251, 252, 264, 268 ริบหนังสือรับรองความประพฤติทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 252 ประกอบมาตรา 251 และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268ประกอบมาตรา 265 การใช้เอกสารแต่ละฉบับเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 252 จำคุกกระทงละ 1 ปี 20 กระทง รวมจำคุก 20 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะค้นหาเจตนาของจำเลยว่ารู้หรือไม่ว่าหนังสือรับรองความประพฤติทั้ง 20 ฉบับ เป็นเอกสารปลอม จำเป็นจะต้องอาศัยเหตุผลกรณีแวดล้อมและพิรุธแห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลย ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.88 โดยโจทก์มิได้โต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 7เมื่อปี 2525 จำเลยทำงานอยู่ที่บริษัท พี.พี.พี.คอนสตรัคชั่นจำกัด มีหน้าที่ส่งหนังสือได้รับเงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท ทำงานอยู่3 ปีเกิดเรื่องขัดแย้งกับพนักงานของบริษัท จึงลาออกมาช่วยเพื่อขายของแต่ยังไม่มีงานประจำ เห็นว่าในระหว่างที่จำเลยทำงานอยู่ที่บริษัทพี.พี.พี. คอนสตรัคชั่น จำกัด นั้น จำเลยมีหน้าที่เพียงเป็นผู้ส่งหนังสือได้รับเงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท สภาพหรือฐานะของจำเลยเท่ากับเป็นเด็กรับใช้หรือนักการภารโรงเท่านั้น เชื่อว่าจำเลยคงจะไม่มีโอกาสรู้ถึงนโยบายการบริหารงานของบริษัทและคงจะไม่รู้ว่าหนังสือรับรองความประพฤติซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษทั้งฉบับเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือเป็นเอกสารปลอม ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การยืนยันมาโดยตลอดว่านางสมบูรณ์เจ้าหน้าที่ของบริษัท พี.พี.พี.คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้วานให้จำเลยนำหนังสือรับรองความประพฤติเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.20 ไปให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยรับรอง โดยจำเลยไม่ทราบว่าหนังสือรับรองความประพฤติเป็นเอกสารปลอมตามบันทึกการจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเอกสารหมาย จ.21 และ จ.88 ตามลำดับยิ่งกว่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบริษัท พี.พี.พี.คอนสตรัคชั่นจำกัด ก็พบใบรับรองความประพฤติปลอมอีก 18 ฉบับ เอกสารหมาย จ.22ถึง จ.39 ในตู้เก็บเอกสารของนางสมบูรณ์ซึ่งหลบหนีไปแล้ว ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังกล่าวประกอบกัน ศาลฎีกาจึงเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่หนังสือรับรองความประพฤติปลอมเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงเห็นสมควรให้ริบ
พิพากษายืน แต่ให้ริบหนังสือรับรองความประพฤติปลอมของกลาง”.