คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4611/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยแต่ละฝ่ายยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งรับโอนมรดกตามส่วนที่ตกลงแบ่งกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนเมื่อโจทก์ไปคัดค้านมิให้จำเลยได้รับโอนมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงว่าโจทก์ไม่ปฎิบัติตามสัญญายอมซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะให้ศาลบังคับให้จำเลยต้องปฎิบัติตามสัญญายอมเช่นกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทเรื่องทรัพย์มรดกของนางสวิง รัศมิทัตโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 1842, 1843 และ 1844 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนของจำเลยยอมยกให้โจทก์โดยไม่คิดค่าตอบแทน ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2893 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับที่ดินโฉนดเลขที่68903, 184852 และ 184853 จำเลยขอสละสิทธิที่จะรับมรดกหากพึงมีให้แก่โจทก์ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 48306, 48308,48322 ถึง 48335 โจทก์ขอสละสิทธิที่จะรับส่วนมรดกในที่ดินดังกล่าวหากจะพึงมีให้แก่จำเลย ให้แบ่งเงินสดสลากออมสินให้แก่โจทก์ จำเลย และนายวิสุทธิ์ รัศมิทัต คนละส่วนเท่า ๆ กันโจทก์และจำเลยตกลงแต่งตั้งให้นายศลย์ ไชยสุต และนายอุดมศักดิ์ ศุกรวรรณ เป็นผู้จัดการมรดกของนางสวิง รัศมิทัตโดยจะไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ส่วนทรัพย์มรดกอื่นของนางสวิง รัศมิทัต โจทก์และจำเลยตกลงให้เป็นไปตามที่กำหนดในพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2533 ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามยอม
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาบางรัก เพื่อให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่1842, 1843 และ 1844 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้เตรียมหลักฐานไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ปรากฎว่าไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะจำเลยไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดิน ทั้ง ๆที่โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ เพื่อดำเนินการต่อไป
จำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องของโจทก์ แต่ยื่นเลยกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 1842, 1843 และ 1844 ให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 8 เมษายน 2534 ต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยยื่นนัดคำคัดค้านว่าจำเลยเคยไปขอรับโอนมรดกส่วนที่จำเลยจะได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์กลับไปคัดค้านอ้างว่ามิใช่เป็นมรดกของนางสวิง รัศมิทัต คนเดียว แต่เป็นมรดกของนายศิริ รัศมิทัตผู้เป็นบิดา ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งรวมอยู่ด้วยและฟ้องขอแบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยจะได้รับจนจำเลยไม่สามารถรับโอนมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่ส่วนที่โจทก์จะได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความกลับไม่ว่ามีส่วนที่เป็นมรดกของบิดาซึ่งจำเลยก็มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งรวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด โจทก์จะเอาแต่ได้ของตนฝ่ายเดียว เห็นว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยแต่ละฝ่ายยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งรับโอนมรดกตามส่วนที่ตกลงแบ่งกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ไปคัดค้านมิให้จำเลยได้รับโอนมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แสดงว่าโจทก์ไม่ปฎิบัติตามสัญญายอมซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะให้ศาลบังคับให้จำเลยต้องปฎิบัติตามสัญญายอมเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share