คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6975/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาเพียงว่าทนายจำเลยแถลงโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 เท่านั้น ดังนั้น การที่ทนายจำเลยเพียงแต่จดแจ้งข้อโต้แย้งคัดค้านไว้ในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ถือไม่ได้ว่าทนายจำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 26 และมาตรา 226 จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องฉบับดังกล่าว
ในส่วนที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าภายหลังจากแจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรแก่จำเลยแล้วจำเลยนำเงินมาชำระหนี้คืนโจทก์ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นเงินจำนวน 54,200 บาท เป็นการเพิ่มเติมฟ้องในสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยในการต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ซึ่งการชำระหนี้บางส่วนย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนมีคำสั่งจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 181 (1) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยให้การว่าคดีขาดอายุความ แม้จะไม่มีการเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าว ศาลก็สามารถหยิบยกเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยการชำระหนี้บางส่วนซึ่งปรากฏในทางพิจารณาแล้วขึ้นวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 233,776.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 187,838.04 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 190,516.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 187,838.04 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องทั้งสี่ครั้งตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 วันที่ 13 กรกฎาคม 2541 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 และวันที่ 5 มกราคม 2542 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 หรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีไม่มีการชี้สองสถานและโจทก์ยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องทั้งสี่ครั้งดังกล่าวโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนมีคำสั่งตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 บัญญัติไว้จึงเป็นการไม่ชอบ สำหรับคำสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 และฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องไว้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนคำสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 ปรากฏว่าทนายจำเลยได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 และทนายจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อรับสำเนาพร้อมทั้งจดแจ้งข้อโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ในคำร้อง แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในวันดังกล่าวซึ่งได้อ่านให้คู่ความฟังแล้วและทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ กลับไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยได้แถลงโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตตามคำร้องฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด โดยปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาว่าทนายจำเลยเพียงแต่แถลงโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำสั่งที่อนุญาตตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 เท่านั้น ดังนี้ การที่ทนายจำเลยเพียงแต่จดแจ้งข้อโต้แย้งคัดค้านไว้ในคำร้องถือไม่ได้ว่าทนายจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 26 และมาตรา 226 กรณีต้องถือว่าทนายจำเลยไม่ประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งตามคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2542 จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องฉบับดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในส่วนนี้เช่นเดียวกัน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งทนายำจเลยได้โต้แย้งคำสั่งไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณา ตามคำร้องดังกล่าวในส่วนที่โจทก์ขอแก้ชื่อบัตรเครดิตจากเดิมที่ระบุชื่อว่า บัตรเครดิตธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็น บัตรกรุงศรี-วีซ่า ซึ่งตรงกับสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลยที่แนบท้ายคำฟ้อง และที่โจทก์ขอแก้ยอดหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนโจทก์ยกเลิกการเป็นสมาชิกของจำเลยจำนวนเงินต่างกันเล็กน้อยซึ่งเห็นได้ว่าเกิดจากการพิมพ์ผิด ทั้งสองกรณีเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 ที่จะต้องส่งสำเนาคำร้องให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนกำหนดนัดพิจารณาคำร้อง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่า ภายหลังจากแจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรแก่จำเลยแล้วจำเลยนำเงินมาชำระหนี้คืนโจทก์ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นเงินจำนวน 54,200 บาท เป็นการเพิ่มเติมฟ้องในสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความซึ่งการชำระหนี้บางส่วนย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 181 (1) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยให้การว่าคดีขาดอายุความ แม้จะไม่มีการเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวศาลก็สามารถหยิบยกเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยการชำระหนี้บางส่วนซึ่งปรากฏในทางพิจารณาแล้วขึ้นวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความได้ การที่จะย้อนกลับไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ให้ถูกต้องย่อมไม่เกิดประโยชน์แก่จำเลย จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ โดยไม่รับวินิจฉัยข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นการชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตอีกใบหนึ่ง ไม่มีเหตุให้อายุความใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์คดีนี้สะดุดหยุดลงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยชำระหนี้คืนโจทก์บางส่วน จำเลยได้รับสำเนาแล้วและมีเวลาเพียงพอที่จะให้การหักล้างข้ออ้างของโจทก์แต่จำเลยก็มิได้ให้การว่าการชำระหนี้ที่โจทก์อ้างเป็นการชำระหนี้บัตรเครดิตใบอื่น ทั้งเมื่อโจทก์อ้างส่งใบแจ้งยอดบัญชี เอกสารหมาย จ.4 เป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่ามีการหักชำระหนี้ในบัญชีหมายเลขสมาชิกเดียวกับบัตรเครดิตที่โจทก์ฟ้อง จำเลยก็มิได้เบิกความในข้อนี้แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share