คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางปรับสภาพที่ดินจนกลายเป็นที่นา ทางราชการจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ส่วนที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกของ ช. กับ ป. ได้มีการแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนแล้ว แต่การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ช่วย ช. บิดาจำเลยแผ้วถางที่ดินพิพาทจนบิดายกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยโดยโจทก์และพี่น้องคนอื่น ๆ ไม่เคยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดก ทั้ง ด. กับ ล. พยานจำเลยเบิกความถึงเรื่องที่ ป. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ดังนั้น ที่ ป. พูดกับบุตรทุกคนว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็เพื่อให้บุตรทุกคนรับรู้ว่า ช. ได้ยกที่ดินพาทให้จำเลยครอบครองทำกินแต่ผู้เดียว ทางนำสืบของจำเลยจึงไม่นอกเหนือคำให้การต่อสู้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 63173 เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนายเชียงเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 63173 ให้แก่โจทก์หนึ่งในห้าส่วนสำหรับวิธีแบ่งทรัพย์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นบุตรของนายเชียงกับนางเป้า โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 5 คน คือ นางแดง จำเลย โจทก์ นายเบญจมินทร์ และนางลมเชย ตามลำดับ นายเชียงถึงแก่กรรมเมื่อปี 2519 ส่วนนางเป้าถึงแก่กรรมปี 2550 นายเบญจมินทร์ก็ถึงแก่กรรมไปก่อนฟ้องแล้วเช่นกัน ก่อนที่นายเชียงถึงแก่กรรมนั้น นายเชียงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่า 1 แปลง ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาปี 2556 จำเลยได้ยื่นใบไต่สวนขอออกหลักฐานทางทะเบียนเป็นของตน เจ้าพนักงานที่ดินไต่สวนแล้วได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 63173 เนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 82 ตารางวา ให้จำเลยซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเชียงอันตกแก่โจทก์และทายาทโดยธรรมหรือไม่ ข้อนี้โจทก์เบิกความในทำนองว่านายเชียงบิดาเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งขณะนั้นเป็นที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิทางทะเบียน หลังจากนายเชียงถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาจำเลยนำที่ดินพิพาทไปขอออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินและยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทายาท ส่วนจำเลยเบิกความต่อสู้ในทำนองว่าจำเลยเข้าไปช่วยบิดาแผ้วถางทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่จำเลยยังเป็นเด็ก บิดาจึงยกที่ดินพิพาทนั้นให้จำเลย เมื่อบิดาถึงแก่กรรม จำเลยก็ยังบุกเบิกครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ภายหลังนางเป้ามารดาได้แบ่งที่ดินต่าง ๆ ที่นายเชียงกับนางเป้าเคยครอบครองทำประโยชน์อยู่โดยโจทก์กับพี่น้องคนอื่นได้ที่ดินแปลงอื่น ส่วนจำเลยได้ที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2556 เจ้าหน้าที่ที่ดินมาสำรวจรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ต่าง ๆ จำเลยจึงยื่นคำขอไต่สวนและขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของตน โดยจำเลยมีนางแดงกับนางลมเชยซึ่งเป็นพี่สาวน้องสาวของตนมาเบิกความสนับสนุน เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของคนในครอบครัวเดียวกัน เมื่อนายเชียงกับนางเป้าบิดามารดาของคู่ความถึงแก่กรรมไปแล้วคงเหลือโจทก์ จำเลย กับนางแดงและนางลมเชยพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยโจทก์คงเบิกความกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นมรดกของนายเชียงบิดาอยู่ ส่วนจำเลยกับนางแดงและนางลมเชยต่อสู้ว่าไม่ใช่มรดกของนายเชียงแล้ว เมื่อพิจารณาถึงที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ผู้เข้าไปยึดถือมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยเข้าไปช่วยเหลือบิดาถากถางแผ้วถางทำประโยชน์มาตั้งแต่ต้น จึงมีเหตุที่บิดาจะยกที่ดินพิพาทนั้นให้แก่จำเลยเข้าครอบครองต่อไปได้โดยง่าย หลังจากนายเชียงถึงแก่กรรมแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีพี่น้องคนอื่น ๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทนี้ คงมีแต่จำเลยที่เข้าไปทำประโยชน์เรื่อยมา ภายหลังจำเลยจึงให้บุตรหลานและบุคคลอื่นเช่าที่ดิน อันเป็นการแสดงออกโดยเปิดเผยว่าตนเองเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ตามสำเนาใบไต่สวน จำเลยก็ระบุว่าได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายเชียงบิดา ในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน ทั้งโจทก์กับพี่น้องคนอื่น ๆ ก็ไม่เคยคัดค้านว่าที่ดินยังเป็นทรัพย์มรดกของบิดาอยู่ จนเจ้าพนักงานที่ดินออกหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้ว การที่จำเลย นางแดง และนางลมเชย เบิกความถึงเรื่องนางเป้ามารดายกที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้น เนื่องจากนางเป้าเป็นภริยานายเชียงและเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอีกหลายแปลง นางเป้ายังนำที่ดินมือเปล่าไปออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินของตนแล้ว 2 แปลง จึงมีเหตุผลที่นางเป้าจะบอกกล่าวถึงเรื่องการยกที่ดินแปลงใดให้บุตรคนใดเสียให้ชัดเจน ทั้งนางแดงกับนางลมเชยเบิกความยืนยันว่านางเป้าได้บอกยกที่ดินนาเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ไว้ให้โจทก์ และโจทก์ได้ขายให้บุคคลอื่นไปก่อนแล้ว ส่วนนางแดง นางลมเชยกับนายเบญจมินทร์ได้ที่ดินนาเนื้อที่ 23 ไร่เศษ ต่อมานางลมเชยรับซื้อที่ดินทั้งแปลงมาเป็นของตนเองเพียงผู้เดียว ดังนั้น ที่นางเป้าพูดกับบุตรทุกคนว่าถึงที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็เพื่อให้บุตรทุกคนรับรู้ว่านายเชียงได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยครอบครองทำกินแต่ผู้เดียวมาช้านานแล้วนั่นเอง ทางนำสืบของจำเลยจึงไม่นอกเหนือคำให้การต่อสู้ของตนแต่อย่างใด นางแดงกับนางลมเชยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับคู่ความ จึงไม่มีเหตุผลที่จะเบิกความเข้าช่วยเหลือหรือกลั่นแกล้งคนหนึ่งคนใดเป็นการเฉพาะ คำเบิกความของนางแดงกับนางลมเชยย่อมมีความน่าเชื่อถือ พยานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของนายเชียง แต่เป็นของจำเลยผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดพิพาทดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะขอบังคับแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share