คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2545 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และกล่าวในตอนท้ายว่า ถือว่าจำเลยทั้งสามได้ประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จริง แต่ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากลาออกเป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกเป็นเวลากว่า 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยทั้งสามนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดอย่างไรตามบทกฎหมายใด ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตน แล้วให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,783,516.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,193,184.64 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 2,783,516.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,193,184.64 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 สิงหาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อเดือนสิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างสะพานและอื่นๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างถนนสายรองในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างงานโดยการประมูลจากกระทรวงมหาดไทย ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2545 จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วนโดยจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนและจำเลยที่ 2 เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างให้โจทก์หลายครั้ง และวันที่ 25 มกราคม 2549 โจทก์ได้รับชำระเงิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้อุทธรณ์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในประการแรกว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) แล้วหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า เงิน 100,000 บาท ที่โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2549 นั้น เป็นเงินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย ชำระหนี้เงินยืมให้แก่โจทก์ มิใช่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างตามสัญญาจ้างให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางมรกต พยานโจทก์ว่า พยานเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ เมื่อโจทก์ปรับปรุงยอดบัญชีแล้วปรากฏว่า ณ วันที่ 11 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้งานสะพานต่อโจทก์เป็นเงิน 4,543,184.64 บาท โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 25 มกราคม 2549 พยานพร้อมด้วยสามีจึงเดินทางไปทวงถามจากจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย แต่พยานขอเป็นเงินสด จำเลยที่ 3 จึงให้พนักงานนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วนำเงินสด 100,000 บาท มาชำระให้โจทก์ และเบิกความยืนยันว่า โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย ไม่เคยกู้ยืมเงินหรือซื้อสินค้ากัน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีนายสิทธิชัย เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นสามีของจำเลยที่ 3 และรู้เห็นการทำสัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ กับเบิกความว่า เงิน 100,000 บาท ที่โจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2549 เป็นเงินที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย ชำระหนี้เงินยืมให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้นายสิทธิชัยจะเป็นสามีของจำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย ไม่มีนายสิทธิชัยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นหุ้นส่วนในห้างทั้งสองเลย และในวันที่ 25 มกราคม 2549 ที่นางมรกตพยานโจทก์ไปทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสิทธิชัยมีส่วนรู้เห็นอยู่ด้วย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ดังนั้นคำเบิกความของนายสิทธิชัยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนการที่โจทก์ได้รับชำระหนี้เป็นเงินสด แต่นางมรกตขอทราบเลขที่เช็คเพื่อนำไปบันทึกสรุปการชำระหนี้ก็เป็นเพียงข้อสังเกตในรายละเอียดเท่านั้น ประกอบกับนางมรกตกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด วิศิษฏ์ชัย ไม่เคยกู้ยืมเงินกัน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตนนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2545 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และกล่าวในตอนท้ายว่า ถือว่าจำเลยทั้งสามได้ประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จริง แต่ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากลาออกเป็นเวลา 2 ปีเท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกเป็นเวลากว่า 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดอย่างไร ตามบทกฎหมายใด ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตน แล้วให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2545 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เชิดจำเลยที่ 2 ให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางมรกต กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ว่า หลังจากปี 2545 นางมรกตติดตามทวงถามหนี้ค่าก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ทยอยชำระหนี้ตลอดมา ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งนายสิทธิชัย สามีของจำเลยที่ 3 พยานจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เบิกความรับว่า การจดทะเบียนเปลี่ยนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 แทนจำเลยที่ 3 นั้น มิได้มีการซื้อขายหุ้นกันจริง เหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเนื่องจากนายสิทธิชัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาจึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ เจือสมทางนำสืบของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 ให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 แทนตน โดยจำเลยที่ 3 ยังคงกระทำการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ที่แท้จริง และถือว่าการลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 3 มิได้เกิดขึ้นเลย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 มาเกิน 2 ปีแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า นายสิทธิชัยเป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 ให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share