แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจยุบรวมแผนกการเงินและแผนกบัญชีเข้าด้วยกันเป็นแผนกการเงินและบัญชีตามมติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เพื่อประสิทธิภาพและความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สิทธิและหน้าที่ในการบริหารงานของบริษัท ข้อ 2 รวมทั้งมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งานเพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบายบริหารบุคคลของบริษัท ข้อ 2 ก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้างและไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยที่ 1 ย้ายโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในระดับหัวหน้าแผนกที่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนกในการปฏิบัติงาน ไปดำรงตำแหน่งพนักงานการเงินในแผนกการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติงานที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนก โดยต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้จัดการแผนก จึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลดค่าจ้างโจทก์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาแล้วได้ความว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2558 จึงถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้าง 2 งวด งวดแรก ทุกวันที่ 28 ของเดือน และงวดที่สอง ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในส่วนนี้ไปเสียทีเดียวได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย สำหรับค่าชดเชย โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 28 เมษายน 2558 จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือต้องให้ลูกจ้างอยู่ทำงานถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างให้มีผลทันทีในวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเงินส่วนนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามเมื่อใด ให้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดส่วนนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพียงใด เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชย 530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,000 บาท ค่าจ้างในส่วนของค่าตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีที่ลดลงและจ่ายไม่ครบ 4,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากเสียโอกาสก้าวหน้าทางวิชาชีพ 2,120,000 บาท ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ ค่าใช้จ่ายระหว่างหางานใหม่ทำและค่าภาระใช้จ่ายต้องดูแลครอบครัว 600,000 บาท ค่าเสียหายจากภาระหนี้สินผ่อนค่าเช่าซื้อรถยนต์ 600,667 บาท ค่าเสียหายจากภาระหนี้สินผ่อนชำระที่อยู่อาศัย 661,050 บาท และค่าเสียหายจากการเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ว่าโจทก์ทำงานมานานเท่าใดและลักษณะงานที่ทำเป็นอย่างไร และให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์ 533,013.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างที่ลดลงเดือนละ 1,000 บาท จำนวน 4 เดือน (ของเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2558) เป็นเงิน 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2558) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ออกใบสำคัญการทำงานที่แสดงว่าโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 มานานเท่าใด และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไรแก่โจทก์ด้วย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกทั้งสิ้น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีแล้วเลื่อนตำแหน่งจนเป็นผู้จัดการแผนกบัญชี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท (เงินเดือน 52,000 บาท และค่าตำแหน่ง 1,000 บาท) ต่อมาคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 มีมติยุบรวมแผนกการเงินและแผนกบัญชีเข้าด้วยกันเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 และยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชี โดยให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานการเงินและไม่จ่ายเงินค่าตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีเดือนละ 1,000 บาท ให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนเมษายน 2558 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้าง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ตามคดีหมายเลขแดงที่ มบ.306/2558 ของศาลแรงงานกลาง ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนโจทก์เรื่องที่โจทก์ปฏิเสธการทำงานในหน้าที่ใหม่ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย และวันที่ 13 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนโจทก์เป็นครั้งที่ 2 แต่โจทก์ปฏิเสธ จำเลยที่ 1 จึงพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2558 ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2558 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยโจทก์เป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าว แล้ววินิจฉัยว่า ค่าตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีเป็นค่าตอบแทนในการทำงานของระยะเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง การลดค่าตำแหน่งเป็นการลดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 10 แม้จำเลยที่ 1 ยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว ก็ไม่อาจลดเงินค่าตำแหน่งได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีที่ลดลงให้แก่โจทก์ตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใหม่นั้น โจทก์ยังคงทำงานในหน้าที่เดิมอยู่ จะปฏิเสธไม่ทำงานในหน้าที่เดิมโดยอ้างว่า ถูกลดตำแหน่งและลดเงินค่าตำแหน่งและรอให้ศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนได้ เป็นการอ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควร การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันเป็นสภาพการจ้าง ถือว่ากระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานเพื่อแสดงว่าโจทก์ได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำเป็นงานอย่างไรให้แก่โจทก์ สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ นั้น ซึ่งจดทะเบียนแล้ว จึงเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดการกองทุนตามมาตรา 13 และมีหน้าที่ตามมาตรา 14 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควรเพียงพอหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เดิมโจทก์มีตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีซึ่งเป็นตำแหน่งระดับผู้บริหาร การที่จำเลยที่ 1 ยุบแผนกบัญชีและยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชี จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานการเงิน ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่ที่ต่ำกว่าเดิม เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจตนากลั่นแกล้งโจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใหม่จึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจยุบรวมแผนกการเงินและแผนกบัญชีเข้าด้วยกันเป็นแผนกการเงินและบัญชีตามมติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เพื่อประสิทธิภาพและความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สิทธิและหน้าที่ในการบริหารงานของบริษัท ข้อ 2 รวมทั้งมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งานเพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบายบริหารบุคคลของบริษัท ข้อ 2 ก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้าง และไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยที่ 1 ย้ายโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในระดับหัวหน้าแผนกที่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนกในการปฏิบัติงานไปดำรงตำแหน่งพนักงานการเงินในแผนกการเงินและบัญชีซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติงานที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนกโดยต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้จัดการแผนก จึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลดค่าจ้างโจทก์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น สำหรับปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดนั้น เมื่อปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาแล้วได้ความว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2558 จึงถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้าง 2 งวด งวดแรก ทุกวันที่ 28 ของเดือน และงวดที่สอง ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในส่วนนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า สำหรับค่าชดเชยนั้น โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) คิดเป็นเงิน 530,000 บาท โดยให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 27 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 28 เมษายน 2558 จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือต้องให้ลูกจ้างอยู่ทำงานถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างให้มีผลทันทีในวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง คิดเป็นเงิน 33,566.67 บาท โดยให้รับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเงินส่วนนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามเมื่อใดจึงเห็นสมควรให้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดส่วนนี้นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพียงใด เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชย 530,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 27 เมษายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 33,566.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง