แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การออกเช็คต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ออกเพื่อชำระหนี้ผู้สั่งจ่ายอ้างว่า ออกเช็คเพื่อก่อหนี้ คือ ออกให้เป็นการชำระราคาล่วงหน้าผู้สั่งจ่ายต้องนำสืบให้ได้ความชัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ตั้งร้านค้าข้าวสารได้ติดต่อซื้อข้าวสารจากบริษัทโจทก์หลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2498 เป็นต้นมา โดยชำระราคาด้วยเงินสดหรือเช็ค เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 จำเลยซื้อข้าวสารจากโจทก์จำนวน 600 กระสอบ คิดเป็นราคา 91,230 บาท จำเลยได้รับข้าวสารไปแล้ว และจำเลยได้ชำระราคาข้าวสารให้โจทก์ด้วยเช็ค 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 50,000 บาท สั่งจ่ายในวันเดียวกันนั้นเอง กับอีกฉบับหนึ่งจำนวนเงิน 41,230 บาท สั่งจ่ายวันที่ 10 ตุลาคม 2498 โจทก์ได้รับเงินตามเช็คฉบับจำนวนเงิน 50,000 บาท แล้ว ส่วนเช็คเลขที่ 132196 จำนวนเงิน 41,230 บาท โจทก์นำไปขอรับจากธนาคารในวันถึงกำหนดไม่ได้ เพราะจำเลยสั่งอายัดเสีย โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยผัดผ่อนแล้วไม่ชำระ จึงขอศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าข้าวสาร 41,230 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2498 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม 2498 จำเลยไม่เคยซื้อข้าวสาร600 กระสอบ และไม่ได้รับข้าวสารจากโจทก์แต่อย่างใดทั้งในเดือนกรกฎาคม 2498 ก็ไม่เคยซื้อข้าวสารจากโจทก์เลย เพิ่งเริ่มซื้อข้าวสารจากโจทก์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2498 และได้ชำระราคาเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่ใช่เป็นลูกหนี้โจทก์และไม่เคยผัดผ่อนการใช้หนี้กับฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของร้านบุญประเสริฐ จำหน่ายข้าวสารและว่าได้ทำการติดต่อซื้อข้าวสารจากโรงสีหลายแห่ง รวมทั้งโรงสีไฟของบริษัทโจทก์ด้วย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2498 จำเลยได้เริ่มซื้อข้าวสารจากโจทก์เป็นครั้งแรก จำนวน 50 กระสอบ ราคา 7,650 บาท โดยนายเปกฮวย แซ่เตีย ประธานกรรมการบริษัทโจทก์เป็นผู้ขายให้จำเลยได้ชำระราคาแล้วดังกล่าวข้างต้น ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2498 โจทก์และนายเปกฮวย แซ่เตีย ได้มาที่ร้านจำเลยเสนอขายข้าวสารจำนวน 3,000 กระสอบ โดยจะคิดราคาในอัตราขายส่งลูกค้าราคาพิเศษถือราคาในวันส่งมอบ จะจัดส่งทางรถไฟจากโรงสีไฟต่าง ๆ ที่โจทก์มีข้าวสารอยู่แล้วเดือนละ 2 ถึง 10 ตู้ ตู้หนึ่งไม่น้อยกว่า 125 กระสอบ โจทก์จำเลยได้ตกลงกันด้วยวาจาว่า การชำระราคาให้มีบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน นับแต่วันตกลงจนสิ้นเดือนตุลาคม 2498หรือจนกว่าจะมีการบอกเลิก และให้จำเลยวางเงินประจำเดือนละไม่น้อยกว่า100,000 บาท แบ่งเป็น 4 งวด งวดละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท โดยนายเปกฮวย แซ่เตีย จะมารับเอง เมื่อโจทก์ส่งข้าวสารแล้วให้ถือเอาเงินที่วางประจำเป็นการชำระหนี้บางส่วน
ตกลงกันแล้วจำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ในเดือนสิงหาคม 2498 รวม 4 งวด เป็นเงิน 158,605 บาท โจทก์ส่งข้าวสารให้ 2 ตู้ ราคา 38,500 บาท เดือนกันยายน 2498 จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์อีก 4 งวดเป็นเงิน 150,395 บาท โจทก์ส่งข้าวสารให้ 8 ตู้ ราคา 160,500 บาทปรากฏตามบัญชีท้ายฟ้องแย้งหมายเลข1, 2 ในเดือนตุลาคม 2498 จำเลยได้จ่ายเงินงวดแรกให้โจทก์ไปอีก 50,000 บาทปรากฏตามบัญชีท้ายฟ้องแย้งหมายเลข 3
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 โจทก์บอกกับจำเลยว่า โจทก์ขอตู้รถไฟไว้ได้แล้ว10 ตู้ พร้อมที่จะส่งข้าวสารที่ 1 ให้จำเลยได้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 อย่างช้าไม่เกินวันที่ 10 ตุลาคม 2498 ข้าวสารที่จะส่งโจทก์ตกลงคิดราคากระสอบละ 161 บาท ข้าวสาร 10 ตู้ 1,250 กระสอบ เป็นเงิน 201,250 บาท ขอให้จำเลยชำระค่าข้าวให้หมดโจทก์จำเลยคิดบัญชีกันปรากฏว่าเงินของจำเลยมีอยู่ที่โจทก์รวมทั้งที่โจทก์รับไปในวันนี้อีก 50,000 บาท เป็นเงิน 160,000 บาท โจทก์ขอให้จำเลยออกเช็คให้อีก 41,250 บาท จำเลยว่าไม่มีเงิน โจทก์บอกว่าสั่งจ่ายวันที่ 10 ตุลาคม ก็ได้ จำเลยจึงได้ออกเช็คเลขที่ 132196 จำนวนเงิน 41,230 บาท รายพิพาทให้โจทก์ไป โดยโจทก์สัญญาว่า ถ้าข้าวไม่ส่งมาภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 โจทก์จะรับเงินตามเช็คนี้ไม่ได้ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2498 โจทก์ไม่ส่งข้าวสารให้จำเลย จำเลยโทรเลขถามโจทก์ตอบว่าจะส่งในไม่ช้าจำเลยถือว่าโจทก์ผิดนัด จึงอายัดการจ่ายเงินตามเช็คนั้นไว้ ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2498 โจทก์ไม่ส่งข้าวสารให้จำเลย แต่โจทก์นำเช็คพิพาทไปรับเงินจากธนาคาร ธนาคารจึงไม่จ่ายให้โจทก์ ครั้นวันที่ 17 ตุลาคม 2498 โจทก์มาบอกเลิกข้อตกลงขายข้าวทั้งหมดกับจำเลย จำเลยยอมเลิก จำเลยจึงส่งคำบอกกล่าวไปให้โจทก์คืนเงิน 160,000 บาท ให้จำเลยภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2498 พ้นกำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยเสีย ขอให้ศาลบังคับโจทก์ชำระเงิน 201,230 บาท หรือถ้าหักเงินตามเช็คพิพาท 41,230 บาท ออก ก็ให้โจทก์คืนเงิน 160,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(แย้ง) จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลย
โจทก์ให้การและเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธว่าโจทก์และนายเปกฮวย แซ่เตีย หรือคนหนึ่งคนใดไม่เคยไปเสนอขายข้าว 3,000 กระสอบ ให้จำเลยเลย ทั้งไม่เคยรับจะส่งข้าวให้จำเลยโดยทางรถไฟเดือนละ 2 ถึง 10 ตู้ และไม่มีบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้กับจำเลยการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยปฏิบัติกันด้วยเงินสดทุกครั้งบัญชีเจ้าหนี้ลูกหนี้ที่กล่าวอ้างจำเลยทำขึ้นเอง ข้าวสารจำนวน 10 ตู้ ตามบัญชีหมาย 1, 2 ท้ายฟ้องแย้งนั้นเป็นการซื้อขายกันระหว่างจำเลยกับบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด ที่บัวใหญ่ โดยใช้ใบอนุญาตขนย้ายข้าวของนายอรุณ บุญเจิม ไม่เกี่ยวกับบริษัทโจทก์แม้นายเบี่ยง กมลพาณิชย์ รับเงินตามเช็คที่จำเลยชำระให้ในการซื้อข้าวรายนี้บางครั้ง เป็นเรื่องส่วนตัวของนายเบี่ยงรับมอบหมายจากบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด ให้รับเงินแทนอย่างไรก็ดี บริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด ก็ได้ออกใบรับเงินและหักบัญชีกับจำเลยเรียบร้อยแล้ว ปรากฏตามบัญชีรายละเอียดประกอบคำให้การของโจทก์นี้หมายเลข 1
ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ในเดือนตุลาคม 2498 โจทก์ตกลงขายข้าวสารให้จำเลย 10 ตู้ จะส่งข้าวให้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 ไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยตกลงกับจำเลยเรื่องนี้เลย ความจริงจำเลยซื้อข้าวสารจากบริษัทโจทก์รวม 6 ครั้ง โดยซื้อจากตัวแทนโจทก์ทางอุบล บางครั้งข้าวทางอุบลไม่พอ จำเลยมาติดต่อกับบริษัทเองชำระราคาด้วยเงินสดบ้าง เช็คบ้าง โจทก์ออกใบรับเงินให้จำเลยทุกครั้งปรากฎตามบัญชีหมายเลข 2 ท้ายคำให้การนี้ ครั้งสุดท้ายจำเลยซื้อข้าวจากโจทก์ 600 กระสอบ ชำระราคาด้วยเช็ค 2 ฉบับดังที่กล่าวในฟ้องจำเลยเจตนาทุจริตบิดพลิ้วจะไม่จ่ายเงินตามเช็คให้โจทก์จึงเพทุบายโทรเลขถึงโจทก์โดยเลศนัย โจทก์เข้าใจว่าในสต๊อกของโจทก์ทางอุบลไม่พอขาย ได้ตอบไปว่า ข้าวสารจะส่งในไม่ช้าหาได้หมายความว่าจะส่งข้าวมาชำระหนี้ให้จำเลยไม่ การที่จำเลยไม่จ่ายเงินตามเช็ค โจทก์ได้แจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแล้วขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย
ชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนำสืบ 2 ข้อ โดยให้โจทก์นำสืบตามประเด็นที่ฟ้องว่า จำเลยยังเป็นหนี้ค่าข้าวสาร 41,230 บาท เป็นข้อแรกก่อน แล้วให้จำเลยสืบแก้ เสร็จแล้วให้จำเลยนำสืบว่าโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลย 160,000 บาท(ไม่รวมถึงเช็คที่โจทก์ฟ้อง) แล้วให้โจทก์สืบแก้
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาตามประเด็นดังกล่าวแล้ว ฟังว่าจำเลยได้ซื้อข้าวอนามัย 600 กระสอบ รายนี้ไปจากโจทก์ และจำเลยได้ออกเช็ค 2 ฉบับ ชำระราคาให้โจทก์จริง ส่วนที่ฟ้องแย้งว่าจำเลยได้จ่ายเงินวางประจำซื้อข้าวไว้กับโจทก์ 160,000 บาท นั้นฟังเป็นความจริงมิได้ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินราคาข้าวที่ยังมิได้ชำระเป็นเงิน 41,230 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จให้โจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ปรึกษาว่า โจทก์นำสืบว่าโจทก์ประมูลส่งข้าวสารจ้าวอนามัยให้มณฑลทหารบกที่ 6 จังหวัดอุบลราชธานีได้ จึงตั้งให้นายลัก แซ่ลิ้ม เป็นตัวแทนของบริษัทโจทก์ไว้ที่จังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ส่งข้าวสารมาให้นายลักจัดการส่งมาให้ทหาร เมื่อมีเหลือก็อนุญาตให้นายลักขายให้คนอื่นได้ จำเลยเป็นเจ้าของร้านค้าข้าวสารที่จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อร้านว่าหลีฮวด หรือ บุญประเสริฐ จำเลยเคยติดต่อซื้อข้าวสารจ้าวอนามัยจากนายลักหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2498 เป็นต้นมา โดยชำระราคาเป็นเงินสดการชำระด้วยเช็คโจทก์ถือว่าชำระเงินสดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม2498 จำเลยซื้อข้าวสารอนามัยไปจากนายลักอีก 600 กระสอบ ราคา 91,230 บาท จำเลยมอบเช็คให้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งจ่ายทันทีเป็นเงิน 50,000 บาท อีกฉบับหนึ่งจ่ายวันที่ 10 ตุลาคม 2498 จำนวนเงิน 41,230 บาท ถึงกำหนดโจทก์รับเงินตามเช็คฉบับหลังไม่ได้ โดยจำเลยอายัดไว้ การที่นายลักขายข้าวสารให้จำเลยทุกครั้งได้บอกไปยังสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งส่งเงินสดหรือเช็คไปด้วย นายลักได้ออกใบรับเงินใบส่งข้าวให้จำเลยไว้ และหักบัญชีสต๊อกข้าวของนายลักออก ทางสำนักงานใหญ่ได้ลงบัญชีเงินและบัญชีสต๊อกไว้เช่นเดียวกัน รวมทั้งหมดจำเลยซื้อข้าวไปจากนายลัก 6 ครั้ง ทั้งครั้งพิพาทนี้ด้วย ปรากฏตามบัญชีรายการหมายเลข 2 ท้ายคำให้การแก้ฟ้องแย้งการขายข้าวครั้งสุดท้าย 600 กระสอบ ให้จำเลย จำเลยไปขนเอาเองจากกุดังของโจทก์นายลักให้นายบ๊วยคนของโจทก์ดูแลแทน โดยนายลักต้องขนข้าวส่งให้ทหารในวันเดียวกัน นายบ๊วยไปนับข้าวที่ขนทางร้านจำเลย เมื่อเสร็จส่งข้าวให้ทหารแล้ว นายลักได้ไปตรวจข้าวที่ร้านจำเลยด้วยถูกต้องแล้วจำเลยได้เขียนเช็คมอบให้นายลักทั้ง 2 ฉบับ
จำเลยนำสืบว่า จำเลยไม่เคยซื้อข้าวอนามัยจากนายลักเลยสักครั้งเป็นแต่เคยซื้อข้าวจากบริษัทโจทก์ที่จังหวัดสุรินทร์ครั้งเดียว 50 กระสอบ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2498 โดยชำระเงินสด ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2498 นายเปกฮวยประธานกรรมการ และนายเบี่ยงผู้จัดการบริษัทโจทก์มาที่ร้านจำเลย เสนอขายข้าวให้จำเลย 3,500 กระสอบ โดยจะคิดราคาให้เป็นพิเศษ จำเลยตกลงรับซื้อเพียง 3,000 กระสอบ โจทก์สัญญาจะส่งข้าวให้จำเลยเดือนละ 2 ถึง 10 ตู้ แต่จำเลยต้องส่งเงินให้โจทก์เดือนละไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท ส่งเป็น 4 งวดงวดหนึ่งไม่น้อยกว่า 15,000 บาท จำเลยได้ส่งเงินให้โจทก์เป็นเช็คในเดือนสิงหาคม 2498 รวม 4 ครั้ง เดือนกันยายน 2498 รวม 4 ครั้งเดือนตุลาคม 2498 อีก 2 ครั้ง รวมทั้งเช็ครายพิพาทที่โจทก์ฟ้องรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 400,230 บาท โจทก์ส่งข้าวให้จำเลยเพียง 10 ตู้ คิดเป็นเงิน 199,000 บาท หักแล้วจำเลยจ่ายเช็คให้โจทก์เกินราคาข้าวถึง 201,230 บาท ถ้าหักเช็ครายพิพาทที่โจทก์ฟ้องออก 41,230 บาท จำเลยก็ยังจ่ายเงินล่วงหน้าให้โจทก์ไปอีก 160,000 บาท ปรากฏตามบัญชีท้ายฟ้องแย้งหมายเลข 1, 2, 3
การที่จำเลยจ่ายเงินครั้งที่ 9 เงิน 50,000 บาท และครั้งที่ 10 คือเช็ครายพิพาท 41,230 บาท ให้โจทก์นั้น ไม่ใช่ชำระราคาข้าวอนามัย 600 กระสอบดังที่โจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยไม่เคยซื้อข้าวอนามัยจากโจทก์ ครั้งที่ 9 จำเลยได้จ่ายเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2498 จำนวนเงิน 50,000 บาท เป็นการจ่ายล่วงหน้างวดที่ 1 ของเดือนตุลาคม 2498 ตามสัญญา ส่วนครั้งที่ 10 คือเช็ครายพิพาทนั้น ได้จ่ายในวันที่ 3 ตุลาคม 2498 โดยนายเปกฮวยกับนายเบี่ยงมาหาจำเลยแจ้งว่าได้ตู้รถไฟไว้แล้วพร้อมที่จะส่งข้าวให้จำเลยได้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 10 ตุลาคม 2498 ขอให้คิดบัญชีกันโดยโจทก์คิดราคาข้าวกระสอบละ 161 บาท เป็นเงิน 201,250 บาทให้จำเลยชำระราคาให้ครบถ้วนเสียเลย จำเลยคิดบัญชีแล้ว ว่าเงินของจำเลยอยู่ที่โจทก์รวมทั้งจ่ายครั้งที่ 9เงิน 50,000 บาทด้วยเป็นเงิน 160,000 บาท โจทก์รับรองว่าได้คิดมาถูกต้องตรงกันจำเลยว่ายังไม่มีเงิน โจทก์ขอให้ออกเช็คสั่งจ่ายในวันที่ 10 ตุลาคม 2498ก็ได้ จำเลยจึงออกเช็ครายพิพาทให้ แต่สัญญาว่า ถ้าข้าวไม่มาในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 โจทก์จะรับเงินยังไม่ได้ โจทก์ก็รับรองถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2498 โจทก์ไม่ส่งข้าวมา จำเลยได้โทรเลขไปถามโจทก์ตอบว่าจะส่งในไม่ช้าจำเลยเห็นว่าไม่มีกำหนดแน่ จึงอายัดการจ่ายเงินตามเช็คฉบับพิพาทไว้วันที่ 10 ตุลาคม 2498 โจทก์ไปรับเงินตามเช็คไม่ได้ รุ่งขึ้น นายเบี่ยงผู้จัดการของบริษัทโจทก์มาบอกให้จำเลยถอนอายัด จำเลยไม่ยอมโจทก์จึงแจ้งความกล่าวหาจำเลยเป็นคดีอาญา ต่อมาวันที่ 17 เดือนเดียวกัน นายเบี่ยงมาบอกเลิกสัญญาส่งข้าว จำเลยก็ยินยอมแล้วจำเลยจึงให้ทนายบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินล่วงหน้าที่จ่ายเกินให้โจทก์ 160,000 บาท โจทก์ไม่ชำระจนบัดนี้
โจทก์นำสืบแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยตกลงส่งข้าว 3,000 กระสอบให้จำเลย ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ส่งข้าวทางรถไฟให้จำเลยแล้ว 10 ตู้ นั้น ความจริงจำเลยติดต่อซื้อจากบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด จำนวนเงินที่อ้างว่าจ่ายเช็คให้บริษัทโจทก์ 10 ครั้ง ตามบัญชีท้ายฟ้องแย้งนั้น ไม่ตรงกับความจริง จำเลยได้ชำระราคาข้าวที่ซื้อจากนายลักและจากโจทก์ 6 ครั้ง จ่ายเป็นเช็ค 4 ครั้ง(รวมทั้งครั้งสุดท้ายจ่าย 2 ฉบับ) จ่ายเป็นเงินสด 2 ครั้ง นอกนั้นจำเลยจ่ายชำระราคาข้าวให้บริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด จำเลยได้จ่ายเงินสดชำระราคาข้าวให้บริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด ก็ยังมีอีก ดังโจทก์ได้แยกบัญชีชำระราคาข้าวที่ซื้อจากโจทก์ และบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัดเสนอมาท้ายคำให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ที่จำเลยจ่ายเช็ค 2 ฉบับในเดือนตุลาคม 2494 นั้น เป็นการชำระราคาข้าว600 กระสอบ ที่ซื้อจากนายลักตัวแทนของโจทก์ โจทก์ไม่เคยคิดบัญชีหรือมีบัญชีติดต่อกับจำเลยเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรกมีว่า จำเลยได้ซื้อข้าวอนามัยของโจทก์ไป 600 กระสอบ ยังค้างชำระค่าข้าวอยู่อีก 41,230 บาท ตามเช็ครายพิพาทจริงหรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีหลักฐานแสดงว่าจำเลยเคยซื้อข้าวของโจทก์มาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งครั้งสุดท้าย 600 กระสอบ นี้ด้วย เป็นครั้งที่ 6 โดยซื้อข้าวอนามัยจากนายลักที่โกดังของโจทก์ที่จังหวัดอุบลราชธานี 5 ครั้ง ซื้อข้าวสารที่ 1 จากโจทก์ที่จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 50 กระสอบ 1 ครั้ง เฉพาะครั้ง50 กระสอบนี้ จำเลยรับว่าซื้อจริง ชำระราคาแล้ว ส่วน 5 ครั้งที่จำเลยซื้อจากนายลักจำเลยปฏิเสธ ข้าว 5 ครั้ง ที่จำเลยซื้อจากนายลักผู้จัดการสาขาอุบลนี้โจทก์มีพยานหลักฐานคือ
1. บัญชีสต๊อกข้าวสารของนายลัก ตามเอกสาร จ.72 ลงไว้ว่าเดือนที่ 7 ปี 1955 (กรกฎาคม 2498) วันที่ 3 ขายให้หลีฮวด 200 กระสอบ วันที่ 22 ขายให้หลีฮวด 377 กระสอบ วันที่ 28 ขายให้หลีฮวด 250 กระสอบ เดือนที่ 8 วันที่ 20ขายให้หลีฮวด 245 กระสอบเดือนที่ 9 วันที่ 3 ขายให้หลีฮวด 600 กระสอบ
2. บัญชีสต๊อกข้าวทางบริษัทโจทก์ เฉพาะฉางนายลัก ตามเอกสารจ.73 ลงว่าขายข้าวให้หลีฮวดตรงกับบัญชีสต๊อกของนายลัก
3. ต้นขั้วใบรับเงิน เอกสารหมาย จ.6, 7, 8, 9 และ 11 ระบุว่า รับเงินจากจำเลย (หลีฮวด) ชำระค่าข้าวสารอนามัย จำนวนเท่านั้นกระสอบ ตามใบส่งเลขที่เท่านั้น ตรงกับจำนวนข้าวที่ขายตามบัญชีสต๊อก
4. ต้นขั้วใบส่งของ ตามเอกสารหมาย จ.29, 30, 31, 33 และ 35 ระบุว่า โรงสีไฟตังฮั้วส่งข้าวให้จำเลยตรงกับที่ใบรับเงินระบุถึง
5. การที่นายลักขายข้าวให้ผู้ใดไป ต้องส่งใบบอกจำนวนข้าวที่ขายพร้อมด้วยส่งเงินหรือเช็คไปที่บริษัทโจทก์ที่สุรินทร์ โจทก์ได้อ้างใบบอกมาทั้งหมด ตามเอกสาร จ.12 ถึง 18 โดยเฉพาะรายงานของจำเลย ตามเอกสาร จ.13, 14, 15,17 และ 18 ระบุจำนวนข้าวสารและเงินที่ชำระ เป็นเงินสดหรือเช็คตรงกับบัญชีที่โจทก์แสดง
6. บัญชีเงินสดของบริษัทโจทก์ 1 เล่ม ลงรายการเงินสดรับจ่ายตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 ปรากฏในหน้า 68, 74, 76, 79, 92 (หมายเหตุรายการที่อ้าง จ.88 ถึง 93) ลงรายการว่าได้ขายข้าวและรับเงินจากจำเลยไว้ตามใบบอกของนายลัก
7. การขายข้าวครั้งสุดท้าย 600 กระสอบ ให้จำเลย นอกจากพยานเอกสารดังกล่าวมาข้างต้น โจทก์มีพยานบุคคลสืบประกอบอีก 4 ปาก ว่าเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 จำเลยที่ 2 ไปขอซื้อข้าวสารที่สำนักงานของนายลัก 600 กระสอบ มีนายบ๊วยผู้จัดการแผนกขายไม้อยู่สำนักงานเดียวกันรู้เห็นด้วยนายลักไปเปิดโกดังที่วารินให้จำเลยขนข้าว ให้นายบ๊วยไปคอยนับกระสอบข้าวที่ร้านจำเลย ส่วนนายลักเอาข้าวที่ส่งทางรถไฟมาถึงวันนั้นไปส่งกรมทหาร เสร็จแล้วมาที่ร้านจำเลย จำเลยจึงเขียนเช็ค 2 ฉบับ มอบให้ มีนายฮั้ว แซ่เตีย ไปหานายลักที่ร้านจำเลย พบนายลักและนายบ๊วย เห็นนายลัก นายบ๊วยนับข้าวอยู่ที่ร้านจำเลย และเห็นจำเลยออกเช็คให้ กับมีนายสรวงจิตร์พิทักษ์ เจ้าของร้านจังกี เคยเห็นจำเลยไปขนข้าวที่โกดังของนายลักหลายครั้งวันที่ 3 ตุลาคม2498 พบจำเลยไปขนข้าวที่โกดังของนายลักด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้แถลงรับตามรายงานลงวันที่ 23 มกราคม ว่า จำเลยเคยซื้อข้าวจากบริษัทโจทก์มาขายหลายครั้ง ทั้งที่นำสืบก็รับว่าได้ติดต่อซื้อข้าวจากโจทก์จริง เป็นแต่เถียงว่าซื้อข้าวรายอื่นที่จะส่งมาให้ทางรถไฟ มิใช่ซื้อข้าวอนามัยจากนายลักที่จังหวัดอุบลฯ นอกจากพยานบุคคลที่รู้เห็นว่า จำเลยซื้อข้าวและขนข้าวจำนวน 600 กระสอบไป โจทก์ยังมีเอกสารแสดงการซื้อขายกับจำเลยเป็นลำดับมา เอกสารเหล่านั้นเป็นหลักฐานซึ่งทำขึ้นในกิจการค้าของบริษัทโจทก์ มีบุคคลอื่น ๆ เกี่ยวข้องรวมอยู่ด้วยฐานะของโจทก์ก็เป็นบริษัทการค้าข้าวมีทุนรอนมากที่จะคิดสร้างหลักฐานขึ้นใหม่ทั้งหมดเพื่อฉ้อโกงจำเลย ไม่เห็นทางที่จะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะบัญชีเงินสดของบริษัทโจทก์ที่ใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้ เป็นบัญชีที่แสดงรายรับจ่ายมาแล้วกว่า 1 ปี ทั้งเป็นบัญชีที่มีร่องรอยว่า ผ่านการตรวจบัญชีของสารวัตรบัญชีภาค 3 มาแล้วแสดงจำเป็นเอกสารที่แท้จริง เอกสารอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้นก็มีรายการเชื่อมโยงตรงกัน ฟังได้ว่าเป็นหลักฐานที่ตรงต่อความจริงเมื่อมีพยานบุคคลนำสืบประกอบดังกล่าวมาแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ซื้อข้าวอนามัยจากนายลักตัวแทนของโจทก์รวมทั้งข้าวรายพิพาท 600 กระสอบ นี้ไปจริง
ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยนั้น มีแต่จำเลยทั้งสองกับนายสมศักดิ์บุตรชาย เบิกความปฏิเสธว่า มิได้ซื้อข้าวอนามัยจากนายลักและได้อ้างบัญชีรับจ่ายข้าวร้านหลีฮวดของจำเลยมาแสดงว่า ไม่มีการรับข้าวที่โจทก์ว่าจำเลยซื้อนั้นเลย ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์บัญชีของจำเลยหมาย ล.44, 45 และบัญชีหมาย ล.47 ถึง 55 แล้ว เห็นว่าไม่ตรงต่อความจริง เพราะบัญชีซื้อสินค้าหมาย ล.45 ลงบัญชีไว้ว่าเดือนกรกฎาคม 2498 ซื้อข้าว 375 กระสอบ เดือนสิงหาคม 2498 ซื้อข้าว 175 กระสอบ เดือนกันยายน 2498 ซื้อข้าว 350 กระสอบรวม 3 เดือน 900 กระสอบ บัญชีขายหมาย ล.44 ลงรายการขายข้าวเดือนกรกฎาคม 2498 ขายรวม 473 กระสอบ เดือนสิงหาคม 2489ขายรวม 194 กระสอบ เดือนกันยายน 2498 ขายรวม 890 กระสอบรวมขายทั้งสิ้น 1,517 กระสอบ เกินจากที่ซื้อ 600 กว่ากระสอบเอาที่ไหนมาขาย จะว่าเหลือมาจากเดือนมิถุนายน 2498 ก็ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 14 มิถุนายนไม่มีการขายข้าว แสดงว่าข้าวไม่มีขาย ในเดือนมิถุนายน 2498 ตามบัญชีซื้อมี 875 กระสอบ บัญชีขาย 813 กระสอบ คงเหลือ 62 กระสอบ และยังมีรายการลงไว้ว่าซื้อข้าวเฉย ๆ ไม่ระบุจำนวนกระสอบ เดือนกรกฎาคม 5,000 บาทสิงหาคม 5,000 บาท ถึงจะเอามาคำนวณรวมด้วย ก็ยังขายเกินซื้อตั้งหลายร้อยกระสอบอยู่ดี ส่วนข้าวที่รับจากบริษัทอิสานธัญญกิจ 1,000 กระสอบ เอาไปลงบัญชีเดือนตุลาคม 2498 ในรายการวันที่ 1 ทั้งหมด แสดงว่าที่ขายไปไม่ใช่ข้าวที่รับในเดือนตุลาคม 2498 นี้ บัญชีของจำเลยจึงไม่เป็นความจริง แม้จะเอาข้าว 1,000 กระสอบในเดือนตุลาคมมาหักด้วยก็ไม่ตรงตามที่นำสืบ กลับเหลือไปถึงเดือนตุลาคม 2498 หลายร้อยกระสอบ แต่ทำไมจำเลยจึงนำนายทิมทัศนาลักษณ มาสืบว่าไม่มีข้าวสารที่ร้านจำเลยในเดือนตุลาคมก่อนจำเลยที่ 2 ถูกจับเลย ส่วนบัญชีหมาย ล.47 ถึง 55 ปรากฏว่าเดือนกรกฎาคมสิงหาคม กันยายน 2498 ซื้อข้าว 2,175 กระสอบขาย 1,557 กระสอบ เหลือกว่า 600 กระสอบ จำเลยก็คงนำสืบว่าไม่มีข้าวสารในร้านจำเลยในเดือนตุลาคม2498 อยู่อีก ทั้งนี้เพื่อปฏิเสธให้พ้นว่าไม่ได้ซื้อข้าว 600 กระสอบ จากโจทก์ จึงนำสืบว่าไม่มีข้าวสารที่ร้านจำเลย แต่บัญชีข้าว 2 อย่าง กลับแสดงว่ามีเหลือมาก ยิ่งกว่านั้น บัญชีหมาย ล.45 กับหมาย ล.47, 48, 49 รายการซื้อข้าวทั้ง 3 เดือน ก็ไม่ตรงกัน ฉะนั้น จำเลยจะเอาบัญชีที่ไม่ถูกต้องมาหักล้างพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก ส่วนพยานบุคคลซึ่งมีจำเลยกับบุตรนั้น โดยปกติก็ต้องเข้าข้างตน เมื่อพยานเอกสารบัญชีไม่ถูกต้องเสียแล้ว คำเบิกความปฏิเสธก็หักล้างไม่ได้
สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยได้ตกลงซื้อข้าวจากโจทก์ 3,000 กระสอบ ได้ส่งเงินล่วงหน้าให้โจทก์หลายครั้ง คิดแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่อีก 160,000 บาท จริงหรือไม่ นั้น ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ไม่น่าเชื่อเป็นความจริง กล่าวคือ
1. จำเลยนำสืบว่า นายเปกฮวย ประธานกรรมการ และนายเบี่ยงผู้จัดการบริษัทโจทก์ เพิ่งมาตกลงขายข้าว 3,000 กระสอบ ให้เมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม 2498 แต่ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์อ้างหมาย จ.60, 61 ว่า จำเลยได้ตกลงซื้อข้าวสารจากโรงสีไฟอิสานธัญญกิจไว้แล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 12 กรกฎาคม 2498 เป็นจำนวน1,500 กระสอบ ข้าวสารที่จำเลยตกลงซื้อนี้ จำเลยกำลังดำเนินการขออนุญาตขนย้ายมาจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยยังไม่ได้รับข้าวจำนวนนี้เลย จำเลยจะต้องเตรียมเงินไว้ใช้ราคาข้าวที่จะส่งมา เหตุใดจำเลยจะตกลงซื้อข้าวจากโจทก์เพิ่มขึ้นอีกรายหนึ่ง ซึ่งไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะส่งเมื่อใดแต่จะต้องส่งเงินล่วงหน้าไปให้เดือนหนึ่งไม่น้อยกว่า 100,000 บาท หรือจะว่าข้าวที่ตกลงซื้อจากบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด เป็นข้าวที่ตกลงซื้อจากโจทก์มาแล้วจำนวนหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นจะต้องมาตกลงกันซ้ำอีกทำไมในเมื่อยังไม่ได้ส่งข้าวมาเลย หากจะว่าโจทก์ต้องการขายเพิ่มให้จำเลยก็น่าจะได้พูดกันถึงข้อตกลงเก่าด้วย แต่จำเลยไม่นำสืบถึงเลย แต่นำสืบเป็นทำนองว่า ได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2498 ครั้งเดียวเท่านั้น เอกสาร จ.60, 61 จึงยันข้อนำสืบของจำเลยให้เห็นว่าขัดกัน นอกจากนั้นการขนย้ายข้าวส่งให้จำเลยจะต้องมีพิธีการขออนุญาตนำเข้าจังหวัดอุบลราชธานีเช่นที่จำเลยยื่นคำร้องตามเอกสารหมาย จ.60, 61 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือโจทก์ได้จัดการอย่างไรในการขออนุญาตขนย้ายจำนวนข้าวที่เพิ่มขึ้นนั้นเลย เมื่อไม่มีใบอนุญาตเช่นว่านี้ โจทก์จะส่งข้าวมาให้จำเลยได้อย่างไรแล้วเหตุใดจำเลยจึงส่งเงินล่วงหน้าไปจนท่วมราคาข้าว ข้อนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไม่เป็นความจริงตามที่จำเลยตั้งรูปนำสืบมา
2. ข้อที่อ้างว่าได้มีการตกลงซื้อขายข้าว 3,000 กระสอบ คงมีแต่จำเลยกับบุตรเป็นพยานว่าตกลงกันด้วยวาจา การส่งเงินล่วงหน้าก็ไม่มีใบรับ อ้างว่าเช็คเป็นหลักฐานอยู่แล้ว การซื้อขายข้าวจำนวนมาก จำเลยเป็นฝ่ายต้องส่งเงินล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเดือนละ 100,000 บาท ราคาก็ไม่ได้กำหนด ชนิดข้าวคุณภาพก็ไม่ได้กำหนดแน่นอนเป็นเรื่องที่ทำอย่างเสียเปรียบและหละหลวม ตกลงกันแล้วก็มิได้มีหลักฐานติดต่อกันอย่างใดในการค้าเลย เช่นข้าวที่ส่งมาแล้วคิดราคาอย่างใด หนังสือตอบรับเงินที่ส่งล่วงหน้าก็ไม่เคยมีจนกระทั่งบัญชีเงินสดของร้านจำเลยก็ไม่เคยลงไว้ว่าได้ส่งเงินให้บริษัทโจทก์ ยากจะเชื่อคำพูดลอย ๆ ของจำเลยและบุตรที่เบิกความ
3. ข้าว 10 ตู้ ที่ส่งมาแล้วเป็นของบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัดส่งมา ใบส่ง ใบรับเงิน และเอกสารทั้งหลายเกี่ยวกับข้าว 10 ตู้ นี้ เป็นของบริษัทอิสานธัญญกิจ จำกัด ทั้งนั้น เมื่อประกอบกับเอกสาร จ.60, 61 ที่จำเลยร้องต่อเศรษฐการจังหวัดว่า จำเลยได้ซื้อข้าวจากโรงสีอิสานธัญญกิจน่าเชื่อว่าเป็นการซื้อข้าวคนละรายไม่เกี่ยวกับบริษัทโจทก์
4. การจ่ายเงินตามเช็คจ่ายเป็นจำนวนปีเศษ น่าจะเป็นราคามากกว่าเงินส่งล่วงหน้า พึงสังเกตว่าในเดือนสิงหาคม จำเลยจ่ายเงินไปแล้วถึง 150,000 บาท เศษ เพิ่งได้รับข้าวมาเพียง 2 ตู้ ยังเหลือเงินล่วงหน้าอีก 1 แสน 2 หมื่นเศษ เหตุใดจึงรีบส่งเงินล่วงหน้าไปในต้นเดือนกันยายน อีก 2 คราวถึง 8 หมื่น โดยยังไม่ได้รับข้าวเพิ่มเติมมาเลย จำเลยก็เป็นพ่อค้าต้องหาซื้อข้าวที่อื่นมาขายด้วยไม่มีใครทำเช่นจำเลยทั้งไม่เคยได้รับใบรับเงิน หนังสือตอบรับเงินเลยนายเปียะกองพยานจำเลยเองก็ยังตำหนิว่า การปฏิบัติเช่นนี้ไม่มีใครเขาทำกัน ข้อสำคัญนางบุญรอด จำเลยเบิกความว่า นายเปกฮวยรับเช็คไปได้ออกใบรับให้ทุกครั้ง ถ้าเป็นเรื่องจ่ายเงินล่วงหน้า จำเลยก็คงเอาใบรับมายืนยันแล้ว แต่นางบุญรอดรู้ตัวว่าเบิกความพลาดพลั้งจึงกลับคำเสียใหม่ว่าแกล้งพูดให้ทนายโจทก์ไม่เป็นความจริงเป็นตอบเลี่ยงอย่างเห็นได้ชัด
5. ข้อที่จำเลยนำสืบว่า เหตุที่ออกเช็ครายพิพาท เพราะมีการติดบัญชีกันระหว่างนายเปกฮวยกับจำเลยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2498 นั้นก็ไม่สมเหตุผล เพราะจำเลยนำสืบมาแต่ต้นว่า ตกลงซื้อข้าวกัน 3,000 กระสอบ ให้จำเลยส่งเงินล่วงหน้า 25-50 เปอร์เซ็นต์ โดยวิธีผ่อนส่งวันที่ 2 ตุลาคม 2498 นายเปกฮวยมารับเงินงวดแรกประจำเดือนตุลาคมไปแล้ว 50,000 บาท เงินของจำเลยอยู่ที่โจทก์แล้วถึง 160,000 บาท เท่ากับ 4 ใน 5 ของราคาข้าว 10 ตู้ ที่จะส่งมา ทำไมจำเลยจะต้องชำระเต็มราคา เพราะว่านอกจากข้าว 10 ตู้ ที่จะส่งแล้วยังเหลือข้าวที่จะส่งกันต่อไปอีกถึง 500 กระสอบ ที่จำเลยนำสืบถึงการคิดบัญชีเช่นนี้ เท่ากับว่าเลิกขายกันเพียง 10 ตู้ ที่จะส่งมานี้เท่านั้น ไม่เป็นไปตามที่ตกลงเหตุใดจำเลยจึงไม่ทักท้วงอีกประการหนึ่งพยานของจำเลยในข้อนี้ก็เบิกความขัดกัน ชั้นแรกเมื่อนำสืบหักล้างฟ้องของโจทก์ นางบุญรอดจำเลยเบิกความว่า วันที่ 2 ตุลาคม 2498 นายเปกฮวยมาบอกว่าขอตู้ได้แล้ว 10 ตู้ ข้าวจะมาในวันที่ 7 ตุลาคม 2498 ขอเงิน 50,000 บาท นางบุญรอด จำเลยได้จ่ายไป ถ้าเป็นเช่นนี้นายเปกฮวยจะต้องมาคิดบัญชีกับจำเลยทำไมอีกในวันรุ่งขึ้นแต่นายเพ็งโก จำเลยกับบุตรชายกลับเบิกความว่านายเปกฮวยมาเบิกเงินไปงวดแรกของเดือนตามปกติไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นรุ่งขึ้นจึงมาบอกว่าได้รับหนังสือจากบัวใหญ่ว่า ได้ตู้แน่นอนแล้วถึงกระนั้น เหตุที่จะคิดบัญชีก็ยังไม่มี เพราะข้าวที่จะส่งมาตามข้อตกลงยังไม่หมด จำเลยเป็นลูกค้าที่ดี แทนที่จะส่งเงินล่วงหน้า25-50 เปอร์เซ็นต์ กลับส่งเงินเกินกว่าเสียอีก เหตุอะไรจะต้องมาเรียกร้องเอาราคาเต็มผิดไปจากที่ตกลง ข้อสำคัญที่จำเลยอ้างว่าข้าวจะมาถึงในวันที่ 7ตุลาคม 2498 หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 10 ตุลาคม 2498 จำเลยจึงจ่ายเงินให้นั้น จำเลยลืมเสียว่าการที่จะต้องส่งข้าวมาให้จำเลยอีก 10 ตู้ นั้น ต้องมีใบอนุญาตขนย้ายเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานีครั้งก่อนนี้จำเลยเป็นฝ่ายขออนุญาตซื้อจากโรงสีบัวใหญ่ 1,500 กระสอบ เศรษฐการจังหวัดอุบลราชธานีต้องสอบถามและออกหนังสืออนุญาต ข้าว 10 ตู้ จำนวน 1,250 กระสอบครั้งที่ 2 นี้อาศัยใบอนุญาตเก่าไม่ได้ เพราะเกินจำนวนแล้ว จำเลยเป็นผู้ที่จะขนเข้ามา ไม่ปรากฏว่าได้ขออนุญาตขนย้ายเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานีอย่างใด แล้วข้าวจะมาได้อย่างไรในวันที่ 7 หรือ 10 ตุลาคม 2498 ข้อนี้จำเลยย่อมรู้ดี เพราะนายสมศักดิ์บุตรจำเลยเบิกความตอนตอบทนายโจทก์ไว้ว่า (ตามที่ตกลงกัน) เรื่องใบอนุญาตให้เป็นหน้าที่ของมารดาจำเลยขอเองฉะนั้น ที่จำเลยตั้งรูปนำสืบดังกล่าวมาว่า ออกเช็ครายพิพาทเพื่อชำระราคาข้าว10 ตู้ ตามที่คิดบัญชีกัน จึงขัดกับเหตุผลและพยานหลักฐาน
6. จำเลยอ้างบัญชีเจ้าหนี้ ลูกหนี้มาแสดงก็มีพิรุธ ในชั้นแรกระบุอ้างพยานไว้แล้ว แต่หาได้นำส่งศาลไม่ เมื่อนายสมศักดิ์บุตรจำเลยเข้าเบิกความ ถูกซักไว้ว่า มีที่ไหนในบัญชีว่าส่งเงินล่วงหน้าให้บริษัทโจทก์ นายสมศักดิ์บุตรจำเลยกลับว่า บัญชีนี้ยังมิได้อ้างมา แล้วจำเลยจึงขออ้างเพิ่มเติมอีก และส่งศาลในภายหลังหลักฐานเช่นนี้ ถ้ามีจริงก็ควรจะได้ส่งพร้อมกับบัญชีอื่นตั้งแต่แรกแล้ว
ในที่สุดศาลอุทธรณ์ได้กล่าวว่า นอกจากเหตุผลที่ยกขึ้นกล่าวมายังมีเหตุผลอื่น ๆ อีก ซึ่งศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วไม่จำต้องกล่าวซ้ำ ศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ที่ไม่เชื่อพยานหลักฐานของจำเลยว่าได้ตกลงซื้อข้าวแล้วส่งเงินล่วงหน้าให้โจทก์เมื่อข้อนี้ฟังไม่ได้พยานหลักฐานของโจทก์รวมทั้งเช็ครายพิพาทก็เด่นชัดขึ้นว่า จำเลยได้จ่ายเช็ครายพิพาทซื้อข้าวอนามัยของโจทก์จริงศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามเช็คที่ค้างชำระ และยกฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า การออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้ใด นั้น ผู้ออกเช็คเป็นอันสัญญาว่าเมื่อผู้ทรงไม่ได้รับเงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คก็จะจ่ายเงินให้ด้วยเหตุนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ค่าตอบแทนในการออกเช็คนั้นได้รับแล้ว กล่าวคือการออกเช็คต้องสันนิษฐานว่าเป็นการออกเพื่อชำระหนี้ เมื่อจำเลยอ้างว่า จำเลยออกเช็คเป็นการก่อหนี้คือว่า ออกให้เป็นการชำระราคาล่วงหน้าก่อนได้รับข้าวตามที่โจทก์สัญญาจะขายให้ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องนำสืบให้ได้ความประจักษ์ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพยานหลักฐานของจำเลย ไม่มีน้ำหนักที่จะฟังตามที่จำเลยต่อสู้และฟ้องแย้งได้เลย บัญชีที่จำเลยอ้างมาแสดงก็เป็นหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นเพื่อประโยชน์ตนเอง รับฟังและเช