แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยและ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการตามโครงการพัฒนาดินเปรี้ยวอำเภอ ได้ว่าจ้างเอกชนให้ขนปูนมาร์ลของกรมโจทก์จากศูนย์ผลิตปูนมาร์ลไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวตามโครงการดังกล่าวโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อโจทก์ และขัดต่อนโยบายของโจทก์ที่ให้เกษตรกรไปขนเอง เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ จึงเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยและ ส. เงินที่จำเลยและ ส.ได้รับจากเกษตรกรเป็นค่าขนส่งปูนมาร์ลหากมีเหลืออยู่ ก็มิใช่เงินที่มีลักษณะเป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งจะต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของราชการ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายสำราญ สมบัติพานิช ได้ร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกและเรือยนต์ของโจทก์ที่มีไว้สำหรับใช้งานราชการและจ้างรถยนต์บรรทุกของเอกชนร่วมกันไปบรรทุกปูนมาร์ลจากศูนย์ผลิตและบริการปูนมาร์ลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในจังหวัดนครนายก และจังหวัดใกล้เคียงคิดเป็นค่าขนส่งที่เก็บจากเกษตรกรเป็นเงินทั้งสิ้น 338,343.75 บาทเมื่อหักค่าใช้จ่ายจำนวน 241,586.51 บาท คงมีเงินเหลือจ่ายที่จำเลยกับนายสำราญได้ร่วมกันรับไว้เป็นประโยชน์ของตนเองจำนวน 96,757.24 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามระเบียบของทางราชการ จำเลยและนายสำราญจะต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยกับนายสำราญรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ส่วนที่จำเลยต้องรับผิดจำนวน48,378.62 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ให้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมงานหน่วยปรับปรุงดินเปรี้ยวองครักษ์จังหวัดนครนายกจำเลยเป็นเพียงข้าราชการที่โจทก์สั่งให้มาทำงานตามโครงการโดยอยู่ภายใต้การควบคุมมอบหมายสั่งการของนายสำราญ สมบัติพานิช จำเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด เงินดังกล่าวหากจะมีจริงก็ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยคำสั่งผิดระเบียบของนายสำราญโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่โจทก์จำเลยนำสืบรับฟังยุติว่า โจทก์ได้จัดตั้งโครงการพัฒนาดินเปรี้ยวขึ้นที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มีนายสำราญ สมบัติพานิชเป็นหัวหน้าโครงการ จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ได้รับคำสั่งจากโจทก์ให้ไปปฏิบัติงานกับนายสำราญที่โครงการดังกล่าว การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวของเกษตรกรของโครงการดังกล่าว เกษตรกรต้องใช้ปูนมาร์ลจากศูนย์ผลิตของโจทก์ที่อำเภอพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี การที่เกษตรกรจะไปขนปูนมาร์ลเองจากศูนย์ผลิตดังกล่าวไม่สะดวก และโจทก์ไม่มีงบประมาณในเรื่องนี้ จำเลยกับนายสำราญจึงได้ว่าจ้างรถยนต์บรรทุกของเอกชนไปขนปูนมาร์ลจากศูนย์ผลิตดังกล่าวมาไว้ที่โครงการโดยคิดค่าขนจากเกษตรกรตามน้ำหนักปูนมาร์ลตันละ 50 บาท บ้าง 75 บาท บ้างแล้วแต่ที่ดินของเกษตรกรอยู่ใกล้หรือไกล ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับเงินค่าขนส่งปูนมาร์ลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบแล้วเห็นว่าเงินค่าขนปูนมาร์ลดังกล่าวมีการเก็บโดยพลการแล้วไม่นำส่งคลังเป็นการผิดระเบียบควรให้หาผู้รับผิดชอบและรายงานต่อโจทก์โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว เห็นว่ามีเงินอันเกิดจากการเก็บค่าขนส่งปูนมาร์ลดังกล่าว จำนวน 96,757.24 บาท ที่นายสำราญและจำเลยต้องรับผิดคนละครึ่ง เพราะไม่ได้นำส่งคลังของโจทก์ นายสำราญได้ใช้ให้โจทก์แล้วส่วนจำเลยไม่ยอมใช้ให้โจทก์ คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่าเงินค่าขนส่งปูนมาร์ลที่จำเลยรับจากเกษตรกรแล้วยังมีเงินเหลือโดยจำเลยไม่นำส่งคลัง ถือว่าเป็นเงินที่รับมาในลักษณะเป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งจะต้องนำส่งคลังเมื่อจำเลยไม่นำส่งจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 24แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2517 บัญญัติว่า “บรรดาเงินส่วนราชการได้รับเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับหรือได้รับชำระตามอำนาจหน้าที่หรือสัญญา หรือได้รับจากให้ใช้ทรัพย์สิน หรือเก็บดอกผลจากทรัพย์สินของราชการ ให้ส่วนราชการที่ได้รับเงินนั้น นำส่งคลังตามระเบียบหรือข้อบังคับที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น ฯลฯ” และวรรคสี่บัญญัติว่า “รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ส่วนราชการที่ได้รับเงินในกรณีต่อไปนี้ นำเงินนั้นไปใช้จ่ายโดยไม่ต้องนำส่งคลังก็ได้คือ
(1)…ฯลฯ
(2)…ฯลฯ
(3) เงินที่ได้รับในลักษณะผลพลอยได้จากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ ฯลฯ”
ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว กรณีการขนปูนมาร์ลของจำเลยและพวกให้เกษตรกรนั้น ได้ความว่าโจทก์ไม่มีนโยบายให้เรียกเก็บเงินค่าขนส่งปูนมาร์ลจากเกษตรกร เป็นเรื่องเกษตรกรไปขนเองหากโจทก์มีรถยนต์บรรทุกก็ขนให้โดยไม่คิดค่าขนส่งแต่อย่างใดและนายสำราญซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการของโจทก์ก็ไม่ได้ขออนุญาตจ้างเอกชนขนส่งปูนมาร์ลโดยเรียกเก็บเงินจากเกษตรกรตามลำดับชั้นต่อโจทก์ นายสำราญกับจำเลยได้บริการแก่เกษตรกร โดยรับขนส่งปูนมาร์ลจากศูนย์ผลิต อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มาที่โครงการอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยรับเงินค่าขนส่งจากเกษตรกรตามน้ำหนักของปูนมาร์ลที่เกษตรกรต้องการโดยจ้างรถยนต์บรรทุกของเอกชน โดยจำเลยเป็นคนเก็บเงินและออกใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยกับนายสำราญจัดทำขึ้นเองให้เกษตรกร ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.144 ถึง จ.151 เห็นว่า ถึงแม้ปรากฏชัดว่าใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.144 ถึง จ.151 ออกในนามโครงการของโจทก์ ซึ่งเป็นส่วนงานราชการของโจทก์ก็ตาม แต่ไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ และการปฏิบัติงานรับจ้างขนปูนมาร์ลของจำเลยและนายสำราญให้เกษตรกรโดยขนมาจากศูนย์ผลิตจังหวัดสระบุรีมายังโครงการของโจทก์ที่จังหวัดนครนายกโดยรับเงินค่าขนจากเกษตรกรแล้วไปจ้างเอกชนให้ทำการขนให้นั้นเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ และไม่ใช่นโยบายของโจทก์ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยและนายสำราญหากเงินที่จำเลยรับไว้จากเกษตรกรมีเหลืออยู่เท่าไร ก็มิใช่เป็นเงินที่มีลักษณะเป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยอันจะพึงส่งด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน