คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่มีการประกาศใช้นโยบายนำเข้าทองคำโดยเสรี การนำทองคำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังโจทก์ ด้วยการทำสัญญากำหนดปริมาณการนำเข้าภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยจะไม่มีผู้อื่นนำทองคำเข้ามาแข่งขัน เมื่อโจทก์ทำสัญญากำหนดให้จำเลยนำทองคำเข้ามาจำหน่ายจำนวน 4,500 กิโลกรัม ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2534 ย่อมเป็นที่เข้าใจว่า ภายในวันดังกล่าวโจทก์จะไม่ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาโดยเสรีเพื่อให้จำเลยนำเข้าและจำหน่ายทองคำได้ในปริมาณที่กำหนด ความเข้าใจเช่นนี้แม้ไม่ได้ระบุในสัญญา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงโดยปริยาย ฉะนั้นการที่โจทก์จะไม่ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาโดยเสรีก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2534 จึงเป็นสาระสำคัญในการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อโจทก์ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาโดยเสรีในวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ทำให้ผู้อื่นสามารถนำทองคำเข้ามาได้อย่างเสรี เป็นเหตุให้จำเลยนำทองคำเข้ามาขายได้น้อยกว่าปริมาณที่กำหนด จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาและต้องชำระค่าปรับให้โจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 8,843,447 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,572,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,048,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ รัฐบาลมีนโยบายควบคุมการนำเข้าและส่งออกทองคำโดยการประมูลว่าผู้ใดให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐบาลมากที่สุดก็จะได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าทองคำ ต่อมามีปัญหาในเรื่องคุณภาพของทองคำและมีการนำทองคำเถื่อนเข้ามาในประเทศ โจทก์จึงมีนโยบายที่จะผ่อนคลายโดยให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมเพชรพลอยเงินทอง บริษัท อ. และบริษัท ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาคมผู้ค้าทองคำเป็นผู้นำเข้าโดยอยู่ในความควบคุมของโจทก์ ต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะให้มีการนำเข้าทองคำโดยเสรี โดยจะเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาการนำเข้าทองคำแท่งของจำเลยและบริษัท อ. กับบริษัท ก. สิ้นสุดลง แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงได้ขยายระยะเวลาประกาศใช้นโยบายนำเข้าทองคำโดยเสรีออกไป โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำมาใช้หลังวันที่ 15 ตุลาคม 2534 และทำสัญญากับจำเลยและบริษัท อ. กับบริษัท ก. โดยให้บริษัททั้งสามดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าทองคำแท่งต่อไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2534 ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2534 โจทก์ประกาศใช้นโยบายการนำเข้าทองคำโดยเสรี จำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์ขอขยายระยะเวลาการนำเข้าทองคำแท่งออกไปอีก และขอลดปริมาณการนำเข้าจากจำนวน 4,500 กิโลกรัม เหลือเพียงจำนวน 3,200 กิโลกรัม จำเลยขอให้โจทก์พิจารณาทบทวนการขยายระยะเวลานำเข้าทองคำแท่ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้มีบันทึกเสนอโจทก์ถึงแนวทางที่จะผ่อนคลายแก่จำเลยโดยมีความเห็นว่า การที่จำเลยนำเข้าไม่ครบนั้นอาจมีสาเหตุเนื่องมาจากทางการได้ปรับปรุงนโยบายการนำเข้าและส่งออกทองคำโดยเสรี จากข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่มีการประกาศใช้นโยบายนำเข้าทองคำโดยเสรี จำเลยและบริษัท อ. กับบริษัท ก. เท่านั้นที่สามารถนำทองคำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ภายใต้การควบคุมของโจทก์ด้วยการกำหนดปริมาณการนำเข้าทองคำภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีผู้อื่นนำทองคำเข้ามาแข่งขัน และเมื่อโจทก์ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้มีการนำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสรีได้ทันภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 จึงได้ต่อสัญญาให้จำเลยและบริษัท อ. กับบริษัท ก. อีก การที่โจทก์ต่อสัญญาให้จำเลย และบริษัท อ. กับบริษัท ก. นำทองคำแท่งเข้ามาในราชอาณาจักรนี้ คู่สัญญาจะต้องกำหนดปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสถานการณ์ในขณะที่ทำสัญญาว่าไม่มีผู้อื่นสามารถนำทองคำแท่งเข้ามาแข่งขัน ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญากำหนดให้จำเลยนำทองคำแท่งเข้ามาจำหน่ายจำนวน 4,500 กิโลกรัม ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2534 แล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2534 โจทก์จะยังไม่ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสรีเพื่อให้จำเลยนำเข้าและจำหน่ายทองคำแท่งได้ในปริมาณที่กำหนด ความเข้าใจเช่นนี้แม้ไม่ได้ระบุในสัญญาแต่ก็ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงโดยปริยาย ฉะนั้นการที่โจทก์จะไม่ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเสรีก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2534 จึงเป็นสาระสำคัญในการทำสัญญาการนำทองคำแท่งเข้ามาในราชอาณาจักรระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อโจทก์ประกาศใช้นโยบายนำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 เป็นเหตุให้ผู้อื่นสามารถนำทองคำเข้ามาในราชอาณาจักรได้อย่างเสรีนับเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำเลยต้องนำทองคำแท่งเข้ามาขายได้น้อยกว่าปริมาณที่กำหนด ดังนั้นจึงจะถือว่าจำเลยผิดสัญญาหาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share