คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาคาร” ไว้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากร ซึ่งคำว่า “อาคาร” นี้ ตามพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายความถึง เรือน โรง สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น สถานีบริการน้ำมันโดยปกติแล้วจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวอาคารที่เป็นที่ทำการตู้จำหน่ายน้ำมันและหลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน รวมทั้งจะต้องเปิดโล่งให้รถยนต์เข้าไปเติมน้ำมันได้ ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นสถานีบริการน้ำมันจึงถือว่าเป็นอาคาร
ป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม97ซูพรีม 92” และ “ESSO รูปเสือ”อยู่ใต้หลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน เป็นป้ายที่อยู่ภายในอาคารของสถานีบริการน้ำมันที่ใช้ประกอบการค้า ทั้งป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97ซูพรีม 92” มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร และป้ายที่มีข้อความว่า “ESSO รูปเสือ” มีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตรยาว 100เซนติเมตร อันเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร ย่อมเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8(5) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีป้าย
ป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICANEXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่ในอาคารของโจทก์ ไม่ใช่ป้ายที่โจทก์เป็นเจ้าของ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลจำเลย ไม่ได้สืบหาเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 18พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินภาษีป้ายดังกล่าวไปยังโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งประเมินค่าภาษีและเงินเพิ่มซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ ณ เลขที่ 1/59 ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ประจำปี 2541 เป็นเงิน 62,616 บาทเงินเพิ่ม 6,262 บาท รวมเป็นเงิน 68,878 บาท ปี 2542 เป็นเงิน 62,616บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 131,494 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าว จึงได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน2542 ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2542 โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่าได้วินิจฉัยยืนตามการแจ้งประเมินบางรายการและบางรายการได้แก้ไขการประเมิน นอกจากนั้น จำเลยที่ 2 ยังได้แจ้งการประเมินภาษีป้ายอื่น ๆซึ่งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมอีกในปี 2541 และ 2542 ปีละ 10,184 บาทรวมเป็นเงิน 20,368 บาท ในการจัดเก็บภาษีป้ายนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องจัดเก็บตามบัญชีอัตราภาษีป้ายซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2535) และป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางเมตรได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการแจ้งประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2เพราะเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือป้ายที่มีข้อความ “เอสโซ่ Tiger Mart” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีน้ำมัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินรวม 2 ป้าย แต่ละป้ายประเมินขนาดกว้าง520 เซนติเมตร ยาว 1,000 เซนติเมตร รวมเนื้อที่ป้ายละ 520,000 ตารางเซนติเมตรและประเมินค่าภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 2 อัตรา 20 บาท ต่อ500 ตารางเซนติเมตร รวมภาษีซึ่งประเมินปี 2541 และ 2542 ปีละ 41,600บาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ว่าป้ายดังกล่าวแต่ละป้ายมีขนาดกว้าง 500 เซนติเมตร ยาว 800 เซนติเมตร ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่ป้ายละ 400,000ตารางเซนติเมตรและคิดเป็นค่าภาษีป้ายละ 16,000 บาท รวม 2 ป้ายเป็นค่าภาษีปีละ 32,000 บาท ก็ตาม การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะป้ายดังกล่าวแต่ละป้ายมีขนาดกว้างเพียง 480 เซนติเมตรยาว 312 เซนติเมตร รวมเนื้อที่ป้ายละ 341,760 ตารางเซนติเมตร คิดเป็นค่าภาษีป้ายละ 13,670 บาท รวมค่าภาษีทั้งสองป้ายเป็นเงิน 27,340.80บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินภาษีป้ายให้แก่โจทก์ในปี 2541 และ2542 เป็นเงินปีละ 14,259.20 บาท รวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 28,518.40บาท ป้ายที่มีข้อความว่า “ESSO เครื่องหมายกรมสรรพากร เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินรวม 2 ป้าย แต่ละป้ายมีขนาดกว้าง 90 เซนติเมตรยาว 180 เซนติเมตร รวมเนื้อที่ป้ายละ 16,200ตารางเซนติเมตร และประเมินค่าภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 3 อัตรา 40 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร คิดเป็นค่าภาษีป้ายละ1,296 บาท รวม 2 ป้าย 2,592 บาท และจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามการประเมินแต่ปัดเศษเนื้อที่ซึ่งไม่ถึง 500 ตารางเซนติเมตร ทิ้ง คือคิดพื้นที่ป้ายละ 16,000 ตารางเซนติเมตรโดยคิดค่าภาษีป้ายละ 1,280 บาท รวม2 ป้าย เป็นค่าภาษี 2,560 บาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะป้ายดังกล่าวมีเพียงป้ายเดียวและภาษาไทยก็มิได้อยู่ต่ำกว่าคำว่าESSO ดังนี้ ป้ายนี้จึงต้องชำระภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 2อัตรา 20 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร คิดเป็นค่าภาษี 648 บาท ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนค่าภาษีให้แก่โจทก์ในปี 2541 และ 2542 ปีละ 1,944บาท รวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3,888 บาท ป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97ซูพรีม 92” ซึ่งติดตั้งบนหัวจ่ายน้ำมัน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ประเมินรวม 6 ป้าย แต่ละป้ายมีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตรรวมเนื้อที่ 1,600 ตารางเซนติเมตรและประเมินค่าภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 1 อัตรา 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ทั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 200 บาทคิดเป็นค่าภาษีป้ายละ 200 บาท รวม 6 ป้าย เป็นค่าภาษี 1,200 บาท และจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามการประเมิน การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะป้ายดังกล่าวเป็นป้ายที่ติดตั้งภายในอาคารมีพื้นที่ไม่เกิน1 ตารางเมตร จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีป้ายตามกฎกระทรวงดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีป้ายให้แก่โจทก์ในปี 2541 และ2542 ปีละ 1,200 บาท รวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 2,400 บาท ป้ายที่มีข้อความว่า “ESSO รูปเสือ” ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้หัวจ่ายน้ำมัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินรวม 10 ป้าย แต่ละป้ายมีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตรยาว 80 เซนติเมตร รวมเนื้อที่ป้าย 4,000 ตารางเซนติเมตร และประเมินค่าภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 3 อัตรา 40 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร คิดเป็นค่าภาษี 3,200 บาท และจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามการประเมิน การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะป้ายดังกล่าวเป็นป้ายที่ติดตั้งภายในอาคารมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางเมตร จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระภาษีป้ายตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีให้แก่โจทก์ในปี 2541 และ 2542 ปีละ 3,200 บาท รวม 2 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 6,400บาท ป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICAN EXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินจำนวน 2 ป้าย แต่ละป้ายมีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตรคิดเป็นเนื้อที่ 4,800 ตารางเซนติเมตร ประเมินค่าภาษีตามบัญชีอัตราภาษีป้ายประเภทที่ 3 อัตรา 40 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร คิดเป็นค่าภาษีป้ายละ 384 บาท รวม 2 ป้าย เป็นค่าภาษี 768 บาท และจำเลยที่ 2 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ชำระภาษี 800 บาท โดยอ้างว่าป้ายดังกล่าวไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการและไม่อาจหาตัวเจ้าของได้ โจทก์ผู้ครอบครองป้ายจึงมีหน้าที่เสียภาษี การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะป้ายดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส จำกัด ซึ่งปรากฏชื่อชัดแจ้งตามป้ายดังกล่าว และเป็นบริษัทที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปจำเลยทั้งสองสามารถหาตัวและเรียกเก็บภาษีป้ายจากบริษัทดังกล่าวได้โดยง่ายแต่จำเลยทั้งสองไม่เคยหาตัวและเรียกเก็บภาษีป้ายจากบริษัทเจ้าของป้ายดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายดังกล่าวตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 18 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าภาษีป้ายให้แก่โจทก์ในปี 2541 และ 2542 ปีละ 768 บาทรวม 2 ปี เป็นเงิน 1,563 บาท (ที่ถูก 1,536 บาท) ก่อนยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้แจ้งการประเมินเรียบร้อยแล้ว ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ สค 52202/696 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2542ซึ่งประเมินภาษีในปี 2541 และ 2542 ทั้งสองฉบับและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2542 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 42,742.40 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนเงินค่าภาษีให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มีอำนาจจัดเก็บภาษีรวมทั้งภาษีป้ายในเขตพื้นที่ของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรีมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์ของผู้รับประเมินภาษี เมื่อวันที่ 10พฤษภาคม 2542 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ เลขที่ 1/59ถนนเพชรเกษม ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครประจำปี 2541 เป็นเงิน 62,616 บาท เงินเพิ่ม 6,262 บาท รวมเป็นเงิน 68,878บาท ปี 2542 เป็นเงิน 62,616 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 131,494 บาท ตามหนังสือแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 2 และที่ 3 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ว่าได้วินิจฉัยยืนตามการประเมิน ยกเว้นป้ายที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย จำเลยที่ 2 วินิจฉัยว่าไม่ต้องเสียภาษีนอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังได้แจ้งการประเมินภาษีป้ายอื่น ๆ ในสถานีบริการน้ำมันพิพาทเพิ่มเติมในปี 2541 และ 2542 อีกปีละ 10,184 บาท รวมเป็นเงิน 20,368 บาท ตามหนังสือแบบแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 4 ถึง 12 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97ซูพรีม 92” ซึ่งติดตั้งบนหัวจ่ายน้ำมันรวม 6 ป้าย ป้ายที่มีข้อความว่า “ESSOรูปเสือ” ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้หัวจ่ายน้ำมันรวม 10 ป้าย และป้ายที่มีข้อความว่าAMERICAN EXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมันรวม 2 ป้าย นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” ซึ่งติดตั้งบนหัวจ่ายน้ำมันรวม 6 ป้าย และป้ายที่มีข้อความว่า “ESSO รูปเสือ” ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้หัวจ่ายน้ำมัน รวม 10 ป้ายนั้นเป็นป้ายที่แสดงไว้หรือติดตั้งภายในอาคารซึ่งเป็นสถานประกอบการค้าน้ำมันของโจทก์ ไม่ใช่ป้ายที่ติดตั้งบริเวณซึ่งไม่เป็นที่รโหฐานตามที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแต่อย่างใด ดังนั้น ป้ายทั้งสองแบบดังกล่าวจึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามบทบัญญัติ มาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) เห็นว่าพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 8(5) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 6 บัญญัติว่าเจ้าของป้ายไม่เสียภาษีป้ายสำหรับป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐานทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ นอกจากนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นได้กำหนดว่าป้ายตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ต้องเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตร กรณีนี้จึงจำต้องวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “อาคาร” มีความหมายเพียงใด ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ให้ความหมายของคำนี้ไว้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีป้ายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่ชัดแจ้งก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้ที่จะต้องเสียภาษีอากรซึ่งคำว่า “อาคาร” นี้ตามพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายความถึงเรือน โรง สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น กรณีสถานีบริการน้ำมันนั้นโดยปกติแล้วจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวอาคารที่เป็นที่ทำการ ตู้จำหน่ายน้ำมัน และหลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน รวมทั้งสถานที่ดังกล่าวนี้จะต้องมีลักษณะเปิดโล่งให้รถยนต์ขับเข้าไปเติมน้ำมันได้ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้รวมกันเป็นสถานีบริการน้ำมัน และถือว่าเป็นอาคารตามความหมายในพระราชบัญญัติภาษีป้าย เมื่อปรากฏว่าป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” และ “ESSO รูปเสือ” อยู่ใต้หลังคาที่ปกคลุมตู้จำหน่ายน้ำมัน จึงเป็นป้ายที่อยู่ภายในอาคารของสถานีบริการน้ำมันที่ใช้ประกอบการค้า ทั้งได้ความว่าป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92″มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 70 เซนติเมตร และป้ายที่มีข้อความว่า”ESSO รูปเสือ” มีขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร ตามแบบสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับป้าย เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 39 อันเป็นป้ายที่มีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งตารางเมตรย่อมเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2534 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายทั้งสองดังกล่าว

สำหรับป้ายที่มีข้อความว่า “AMERICAN EXPRESS” ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน รวม 2 ป้าย นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องสืบหาตัวเจ้าของป้ายเสียก่อนเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่สืบหาตัวเจ้าของป้ายแต่มาเรียกภาษีป้ายจากโจทก์ จึงไม่ถูกต้องและไม่มีสิทธิประเมินภาษีป้ายดังกล่าวจากโจทก์ เห็นว่า ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการสำหรับภาษีป้ายใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีป้ายเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว” ป้ายดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องหาตัวเจ้าของป้ายนั้นแต่จากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของตนสืบหาเจ้าของป้ายหรือไม่ และป้ายดังกล่าวมีประโยชน์แก่โจทก์อย่างไรแต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนายสุริยะ เนียมฉาย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามทนายโจทก์ถามค้านว่า สำหรับป้ายที่มีข้อความว่า”AMERICAN EXPRESS” นั้น หากจะสืบหาเจ้าของป้ายนี้ก็สามารถสืบหาได้เพราะบริษัทดังกล่าวมีชื่อเสียง แสดงว่าทางฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่มีการสืบหาเจ้าของป้าย ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางสรุปข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาย่อมฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ดังกล่าว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ไม่สืบหาเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1จึงไม่มีอำนาจแจ้งการประเมินภาษีป้ายนี้ไปยังโจทก์ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ สค 52202/696 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม2542 ของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประเมินภาษีในปี 2541 และ2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2542 ของจำเลยที่ 2เฉพาะป้ายที่มีข้อความว่า “ซูพรีม 97 ซูพรีม 92” “ESSO รูปเสือ” และ”AMERICAN EXPRESS” ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีป้ายจำนวน10,336 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 พฤศจิกายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share