แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย โดยมิได้ระบุให้ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92
โทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ลงโทษจำคุกและลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในคดีหลังด้วย การเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยที่ 1 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสอง ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 56 เม็ด น้ำหนัก 5.127 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 1.427 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เหตุเกิดที่แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวและโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลข 09-4784940 จำนวน 1 เครื่อง กับรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร พฉฉ 445 ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นอุปกรณ์ในการติดต่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษและเป็นยานพาหนะในการขนส่งยาเสพติดให้โทษเพื่อไปจำหน่ายเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8030/2543 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และขอให้ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร พฉฉ 445 ของกลาง กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกไม่ผิดวรรคหนึ่ง) วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 9 เดือน และปรับ 600,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 10 เดือน 15 วัน และปรับ 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 3 ปี 3 เดือน และปรับ 200,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่และรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร พฉฉ 445 ของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 4 เดือน และ ปรับ 200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 8030/2543 ให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์คงระบุเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมาย โดยมิได้ระบุให้ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษแก่จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม จึงเป็นไปโดยชอบและฎีกาว่าเมื่อศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้วต้องเพิ่มโทษปรับของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นเห็นว่า โทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้ลงโทษจำคุกและลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ด้วย การเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยที่ 1 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่เพิ่มโทษจำคุกโดยมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นวางโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 533,333 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลดโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี 4 เดือน และปรับ 266,666 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์