แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงไปที่กลุ่มคนหมู่มากและอยู่ในที่จำกัด ย่อมถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล เมื่อมีผู้ถูกกระสุนปืนทั้งถึงแก่ความตายและไม่ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า
แม้ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มิใช่เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วม มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ศาลฎีกาจึงแก้ไขบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้เท่านั้น ไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๓๒, ๓๓, ๙๐, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสาโรจน์ เสืออิ่ม บิดาของนายเทพฤทธิ์ เสืออิ่ม ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๒๘๘, ๘๐ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิด ต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. ๒๔๙๐ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบด้วย มาตรา ๕๓ คงลงโทษจำคุกรวม ๓๓ ปี ๒๐ เดือน ริบของกลาง และให้ยกฟ้องฐานพยายามฆ่า นายวิชัย รุประมาณ ผู้เสียหายที่ ๔
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ และมาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐, ๖๙ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๐ ปี เมื่อรวมกับโทษฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นและฐานพาอาวุธปืนแล้ว เป็นจำคุก ๑๐ ปี ๑๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายทั้ง ๔ ได้โดยสารรถยนต์ประจำทางสาย ๙๕ ซึ่งมี ผู้โดยสารเต็มคันรถในช่วงเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร จำเลยเดินมาพูดกับนายณัฐพงศ์ซึ่งเคยอยู่โรงเรียนเดียวกันสมัยชั้นมัธยม ขณะนั้นนายณัฐพงศ์ยืนอยู่ข้างที่นางสาวจิราภรณ์ เมื่อจำเลยกับนายณัฐพงศ์ยืนพูดกันได้สักครู่ จำเลยก็ล็อกคอนายณัฐพงศ์พร้อมกับชักอาวุธปืนออกมาจากเอว นางสาวจิราภรณ์จึงลุกขึ้นผลักตัวนายณัฐพงศ์ออกไป ทันใดนั้น จำเลยก็ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงไปที่กลุ่มผู้เสียหายซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังเป็นจำนวนหลายนัดติดต่อกัน ดังนั้น การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธ ร้ายแรงยิงไปที่กลุ่มคนหมู่มากและอยู่ในที่จำกัด ย่อมถือได้ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าโดยย่อมเล็งเห็นผล เมื่อมีผู้ถูกกระสุนปืน ทั้งถึงแก่ความตายและไม่ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า
คดีนี้ แม้ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มิใช่เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ศาลฎีกาจึงแก้ไขโดยบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้น ไม่อาจพิพากษา เพิ่มเติมโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .