คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญายอมชำระหนี้ให้โจทก์แทน ส. เป็นการตอบแทนที่จำเลยขอให้โจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ส.วัถตุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113(เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ฟ้องนายสัมพันธ์ ปิตินานนท์ ต่อศาลชั้นต้น เรื่องตั๋วเงิน ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1680/2530หมายเลขแดงที่ 4371/2530 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสัมพันธ์ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ได้ฟ้องนายสัมพันธ์เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาธนบุรีในข้อหาแจ้งความเท็จเบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1175/2531 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวพันกับคดีแพ่งดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาคดีนายสัมพันธ์ได้นำจำเลยซึ่งเป็นบิดาของนายสัมพันธ์มาขอร้องโจทก์ให้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาโดยจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท โจทก์จึงถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2531 ในวันเดียวกับที่จำเลยทำหนังสือสัญญาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท โดยจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด จำนวนเงิน 8,000 บาท ลงวันที่ 18ธันวาคม 2531 ให้แก่โจทก์ และจำเลยสัญญาจะชำระเงินสดให้แก่โจทก์อีก 2,000 บาท ในวันที่ 6 ธันวาคม 2531 ส่วนที่เหลือจำนวน60,000 บาท จำเลยจะผ่อนชำระให้โจทก์เดือนละ 2,500 บาทรวม 24 เดือน นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 5ธันวาคม 2533 หากจำเลยผิดนัด ยอมให้โจทก์ดำเนินคดีในส่วนที่ยังค้างชำระทั้งหมดทันที และยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในเงินที่ค้างชำระ ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2531 และจำเลยผิดนัดในการที่ตกลงว่าจะชำระเงินสด 2,000 บาท ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2531 ทั้งจำเลยไม่ผ่อนชำระเงินตามงวดให้แก่โจทก์ตามสัญญา ก่อนฟ้องโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระแล้วจำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระหนี้จำนวน70,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 82 วัน คิดเป็นเงิน2,391.12 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 72,391.12 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 72,391.12 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยรับว่าโจทก์เคยฟ้องบุตรของจำเลยให้รับผิดชำระเงินตามเช็ค ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บุตรของจำเลยชำระหนี้ตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องบุตรของจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรีในข้อหาแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จและนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในระหว่างการพิจารณา โจทก์จำเลยได้ตกลงกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้บุตรของจำเลยรับโทษในคดีอาญา โดยโจทก์ให้จำเลยทำสัญญาชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน70,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์จะถอนฟ้องคดีอาญา จำเลยกลัวบุตรของตนจะได้รับโทษจึงทำสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ถอนฟ้องในวันทำสัญญา สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดชี้สองสถานและพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 72,391.12 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 70,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสัมพันธ์ ปิตินานนท์ ชำระหนี้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องนายสัมพันธ์ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จเบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลอาญาธนบุรีระหว่างการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์ถอนฟ้อง โดยจำเลยรับจะชำระหนี้ของนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์แทนตามหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พิเคราะห์ข้อตกลงตามหนังสือสัญญาท้ายฟ้องที่ว่าจำเลยตกลงยินยอมชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์เป็นการตอบแทนที่ขอให้โจทก์ถอนฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องนายสัมพันธ์ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จ เบิกความเท็จ และนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดินนั้น เห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน คือ จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระหนี้แทนนายสัมพันธ์ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ไม่เอาผิดในคดีอาญาที่นายสัมพันธ์ถูกโจทก์ฟ้อง เห็นได้ว่าที่จำเลยทำสัญญาจะใช้หนี้แทนนายสัมพันธ์ซึ่งเป็นบุตรให้แก่โจทก์ ก็โดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ถอนฟ้องไม่ให้เอาผิดแก่นายสัมพันธ์เป็นการตอบแทนกัน วัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการตกลงให้ระงับคดีอาญาแผ่นดิน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 (เดิม)”
พิพากษายืน

Share