คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรเป็นกรณีโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของจำเลยเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของโจทก์ กรณีคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ผู้มีอำนาจออกคำสั่งคือ เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น ตามมาตรา 44 และ 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น น. สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งจึงมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งทางปกครองได้
การจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัท อ. เพื่อประกันความเสี่ยงในการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามเพื่อบริการด้านงานสินเชื่อตามสัญญา แม้เป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา แต่การที่โจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทในเครือทั้งสาม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหน้าที่หรือความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปจ่ายแทนบริษัทในเครือทั้งสาม และค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายไป ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ตกแก่บริษัทในเครือของโจทก์ โจทก์ได้รับเพียงค่าตอบแทนจากการให้บริการจัดการธุรกิจตามสัญญาเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสุทธิเท่านั้น ดังนั้น เงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์จ่ายให้บริษัท อ. เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงจากการนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามไปขายลดให้ธนาคาร จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ที่ กค 0705.07/ภค./4325 และที่ กค 0705.07/ภค./4389 ลงวันที่ 8 และ 9 เมษายน 2558 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีจำเลย ตามหนังสือเลขที่ กค 0705.32.2/9494 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 และให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 9,444,586.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร คือ วันที่ 23 ธันวาคม 2556 จนถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน 2,238,366.94 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 9,444,586.25 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า โจทก์ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำควบคุมการดำเนินการและจัดการธุรกิจให้แก่บริษัทในเครือรวมสามบริษัท โดยสัญญาระบุให้โจทก์ดูแลวงเงินสินเชื่อและค้ำประกันกับธนาคารให้เป็นไปตามนโยบายทางด้านการเงิน ให้มีการขายลดหนี้และประกันสินเชื่อ การจัดการเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดให้มีการลดหนี้และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาขายลดหนี้ด้วย โจทก์ให้บริการบริษัทดังกล่าวโดยนำลูกหนี้การค้าของบริษัททั้งสามที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระขายให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัทในเครือทั้งสามมีสภาพคล่องทางการเงิน ไปจัดการซื้อวัสดุและจ่ายค่าการผลิตสินค้าออกจำหน่ายต่อไป ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าจะทำสัญญาซื้อลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ได้ทำประกันภัยไว้ โจทก์จึงให้บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวร์แรนซ์ เอ็น. วี. จำกัด เป็นผู้รับประกันภัยแทนที่โจทก์ต้องทำสัญญาค้ำประกันต่อธนาคารโดยตรง โดยโจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 จำนวน 13,267,166.50 บาท 18,500,000 บาท และ 16,065,287.50 บาท ตามลำดับ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงประเมินภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 เป็นค่าภาษีอากรที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มเติมทั้งสิ้น 8,275,394.95 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามแบบ ภง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 เป็นเงิน 25,706,742.83 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 เป็นเงิน 7,064,002.41 บาท สำหรับคำร้องขอคืนภาษีของโจทก์นั้น เจ้าพนักงานของจำเลยไม่คืนภาษีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันเป็นผลทำให้โจทก์ได้รับเงินภาษีอากรคืนในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทน้อยลง โดยรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 ได้รับคืนน้อยลง 4,625,000 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 ได้รับคืนน้อยลง 4,819,586.25 บาท และแจ้งคืนภาษีอากรให้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับคืนแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ไม่ได้รับคืน โดยอ้างมูลเหตุที่ขอคืนว่า “รอผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553” เมื่อปรากฏผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงได้มีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30) ไปยังโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งตามหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร จำเลยมีหนังสือไม่อนุมัติคืนเงินตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรและการวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรของสรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตรวจสอบแล้วพบว่า โจทก์และบริษัทในเครือทั้งสามนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระขายลดให้แก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยมีบริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น. วี. จำกัด รับประกันภัย และโจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น. วี. จำกัด แล้วโจทก์นำค่าเบี้ยประกันมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรให้โจทก์ไปพบและให้นำส่งเอกสารหลักฐานทางบัญชี เมื่อตรวจสอบไต่สวนแล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงปรับปรุงกำไรขาดทุนสุทธิตามผลการตรวจสอบทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์การประเมิน เป็นผลให้โจทก์ได้รับคืนภาษีตามคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 ลดลง โดยต้องรอผลการอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ไม่ได้รับคืนและเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรให้โจทก์มารับคืน โดยมีข้อความว่า กรณีไม่เห็นด้วยกับการแจ้งคืนเงินภาษีอากรให้ทำหนังสือเพื่ออุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร นั้น เห็นว่า การอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรดังกล่าวเป็นกรณีโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของจำเลยเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของโจทก์ กรณีคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ผู้มีอำนาจออกคำสั่งคือเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น ตามมาตรา 44 และ 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกระทรวงมหาดไทยตามที่โจทก์อุทธรณ์ ข้อนี้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า การที่โจทก์ชำระเบี้ยประกันภัยตามฟ้องให้แก่บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น. วี. จำกัด เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยหลักใหญ่เก็บจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยเงื่อนไขของรายจ่ายที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยมาตรา 65 ทวิ บัญญัติว่า การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย และมาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ… (13) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ โจทก์มีนายอภิชาติ ผู้จัดการส่วนกฎหมายและพิธีการราชการเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการลงทุน การบริการด้านการตลาดและการจัดการแก่บุคคลอื่น โจทก์ตกลงทำสัญญาให้บริการธุรกิจให้แก่บริษัทในเครือได้แก่บริษัท เอ็น. ที. เอส. สตีล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทเหล็กสยาม (2001) จำกัด และบริษัทเหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ตั้งแต่ปี 2547 ตามสัญญาให้บริการจัดการธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2547 ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2550 ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2552 และฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2553 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 โดยบริษัทในเครือต่างผลิตและจำหน่ายเหล็กเส้นก่อสร้างและเหล็กลวด บริษัทในเครือมีค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนกันมาก เพื่อเป็นการลดต้นทุนบริหารแก่บริษัทในเครือ โจทก์จึงให้บริการด้านบัญชี ธุรการ กฎหมาย และการตลาดโดยรับมาดำเนินการแทนโดยโจทก์คิดค่าธรรมเนียมตอบแทนบริษัทในเครือทั้งสามประมาณร้อยละ 1 ถึง 2 ของยอดขายสุทธิ บริษัทในเครือทั้งสามมีลูกหนี้การค้าชำระยาว 60 วัน หรือ 90 วัน ส่งผลกระทบให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน โจทก์บริหารโดยนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระขายลดแก่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัทในเครือได้เงินไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจทำให้การผลิตและการขายสินค้ามีคุณภาพ ธนาคารจะทำสัญญาซื้อลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือต่อเมื่อโจทก์ทำประกันภัยไว้ โจทก์ผู้รับจ้างบริหารธุรกิจของบริษัทในเครือตามสัญญาตกลงให้บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น. วี. จำกัด ประกันต่อธนาคาร โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยร่วมต้องชำระเบี้ยประกันเพื่อให้ได้เงินค่าธรรมเนียมการบริหาร และมีนายศุภกิจ ผู้จัดการส่วนบัญชีของโจทก์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลงานด้านบัญชีของโจทก์และของบริษัทในเครือเบิกความว่า รายจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นรายจ่ายตามสัญญาให้บริการจัดการธุรกิจ เป็นการดำเนินการตามสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทในเครือ โจทก์จ่ายเบี้ยประกันดังกล่าวให้แก่ผู้รับประกันภัยจริงและตามสัญญาให้บริการจัดการธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2553 โจทก์เรียกเก็บเงินค่าตอบแทนจากบริษัทในเครือในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสุทธิของบริษัทในเครือ งบการเงินของโจทก์และบริษัทในเครือ ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดสำหรับปีสิ้นสุดในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทถูกต้องตามควรในสาระสำคัญ ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ส่วนพยานจำเลยมีนางสาวศุภสุตา นักตรวจสอบภาษีชำนาญการ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 7 เบิกความว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโจทก์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นนัยสำคัญและส่วนหนึ่งเกิดจากโจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสาม พยานจึงเห็นว่า ค่าเบี้ยประกันไม่ใช่รายจ่ายที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องจ่ายตามสัญญา ประกอบกับการพิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับยอดขายของบริษัทในเครือ ในขณะที่การจ่ายเบี้ยประกันภัยขึ้นกับวงเงินการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือที่เกิดจากประมาณการขายเชื่อ โจทก์ไม่รวมการเก็บค่าตอบแทนเบี้ยประกันภัยในสัญญาบริหารธุรกิจ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิได้ เนื่องจากไม่ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ เห็นว่า ตามสัญญาให้บริการจัดการธุรกิจระหว่างโจทก์กับบริษัทในเครือทั้งสาม ข้อ 1. ระบุว่า โจทก์ตกลงให้บริการจัดการธุรกิจ และผู้ว่าจ้าง (บริษัทในเครือทั้งสาม) ตกลงรับบริการจัดการธุรกิจจากโจทก์ในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1.4 การบริการด้านงานสินเชื่อ และตามสัญญาข้อ 3. ระบุว่า หากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญานี้ ซึ่งโจทก์ได้ทดรองจ่ายไปก่อน ผู้ว่าจ้าง (บริษัทในเครือทั้งสาม) ตกลงจะชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมดภายใน 30 วัน นับจากวันที่โจทก์แจ้งให้ทราบ การจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น.วี. จำกัด เพื่อประกันความเสี่ยงในการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามเพื่อบริการด้านงานสินเชื่อตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งสัญญาข้อ 3. ระบุไว้ชัดเจนว่าให้บริษัทในเครือทั้งสามเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์โดยตรง การที่โจทก์ไปจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทในเครือทั้งสาม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหน้าที่หรือความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปจ่ายแทนบริษัทในเครือทั้งสาม และค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายไป ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ตกแก่บริษัทในเครือของโจทก์ โจทก์ได้รับเพียงค่าตอบแทนจากการให้บริการจัดการธุรกิจตามสัญญาเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสุทธิเท่านั้น จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นจึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์จ่ายให้บริษัทอาตราเดียส เครดิต อินชัวแรนซ์ เอ็น.วี. จำกัด เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงจากการนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามไปขายลดให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share