คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค. ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ทำให้ ค. ได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อ ค. โดยจำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ค. ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดต่อ ค. นั้นได้รวมค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ค. และรับช่วงสิทธิของ ค. มาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้แล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน ค. กับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์อีกเพราะจะมีผลให้จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อน หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 1,316,675.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,212,530.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 7 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 195,173.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 390,347 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 และที่ 6 จำนวน 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องทั้งหมด (ฟ้องวันที่ 23 มิถุนายน 2554) รวมแล้วต้องไม่เกิน 104,144.74 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 6 รับผิดชำระเงิน 811,444.02 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิด 255,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่สหราชอาณาจักร โจทก์รับประกันภัยและประกันอุบัติเหตุในระหว่างเดินทางของนายเครก ซึ่งเดินทางจากประเทศอังกฤษเข้ามาในประเทศไทย ในวันเกิดเหตุนายเครกโดยสารรถตู้หมายเลขทะเบียน 30 – 0057 แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0057 แม่ฮ่องสอน จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถตู้โดยสารคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 6 และเป็นผู้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 3473 เลย และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81 – 3474 เลย ของจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 7 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 6 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2553 เวลากลางคืน ขณะที่นายเครกเดินทางโดยรถตู้โดยสารที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับถึงจังหวัดอุดรธานีที่เกิดเหตุได้เกิดเหตุรถตู้โดยสารที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 3473 เลย และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81 – 3474 เลย ที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้ขับ หลังเกิดเหตุนายเครกได้รับบาดเจ็บต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์และโรงพยาบาลกรุงเทพ ต่อมานายเครกเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ประเทศอังกฤษโดยมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามใบแจ้งหนี้ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าบริการทางวิชาชีพและค่าใช้จ่าย และค่ารถจากสนามบินไปบ้าน โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่นายเครกไปเป็นเงิน 1,212,530.52 บาท จึงรับช่วงสิทธิของนายเครกมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งเจ็ดและก่อนฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 โจทก์และนายเครกกับพวกยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคำฟ้องคดีผู้บริโภคต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันที่ 1 เมษายน 2554 ว่า คดีส่วนของโจทก์ไม่เกี่ยวกับคดีผู้บริโภค จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องเฉพาะคดีส่วนของโจทก์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์เป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ วันที่ 2 มิถุนายน 2554 โจทก์ยื่นคำร้องขอสละสิทธิที่ขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์เป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ และโจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 สำหรับค่าแปลเอกสารที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นเงิน 374.50 บาท นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกาว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงและขับรถแซงรถบรรทุกพ่วงที่แล่นติดต่อกันถึง 4 คัน จำเลยที่ 5 ใช้ความระมัดระวังในการเปลี่ยนช่องเดินรถอย่างดีแล้ว เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 5 ไม่ได้มีส่วนประมาทด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 และที่ 5 โดยจำเลยที่ 5 มีส่วนประมาทมากกว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 จึงไม่อาจฎีกาว่า เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 5 ได้อีกเพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงด้วยความประมาทโดยจำเลยที่ 5 เปลี่ยนช่องเดินรถไปทางด้านขวาอย่างกระชั้นชิดในขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้โดยสารแซงรถบรรทุกที่แล่นอยู่ด้านหน้าไปช่องเดินรถด้านขวาเช่นกัน เป็นเหตุให้รถบรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยที่ 5 ขับเฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับทำให้นายเครก ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ที่นั่งโดยสารมาในรถตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 6 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 5 ด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามกฎหมายภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ของศาลชั้นต้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน อายุความฟ้องร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดจึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะนายจ้างซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 4 จึงแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดและในฐานะนายจ้างของผู้กระทำละเมิด ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อเหตุละเมิดเกิดวันที่ 31 มีนาคม 2553 และข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมกับนายเครก ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ ต่อศาลชั้นต้น ให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่นายเครกไปเป็นเงิน 1,212,530.52 บาท พร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีผู้บริโภคตามคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ภายในกำหนดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าในคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 เนื่องจากฟ้องส่วนของโจทก์ไม่เป็นคดีผู้บริโภค ซึ่งมิใช่กรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้องตามมาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง จึงเป็นกรณีที่อายุความได้สะดุดหยุดลงแล้วตั้งแต่มีการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคดีผู้บริโภค และเมื่อศาลในคดีผู้บริโภคดังกล่าวมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนคดีของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว และต้องเริ่มนับอายุความ 1 ปี และ 2 ปี ใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2554 เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคดีนี้ต่อศาลเดียวกันเป็นคดีแพ่งทั่วไปในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งการที่ศาลชั้นต้นในคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคมีคำสั่งไม่รับฟ้องส่วนของโจทก์เนื่องจากฟ้องโจทก์ไม่เป็นคดีผู้บริโภคนั้น เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับประเภทคดี มิใช่กรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือกรณีที่ศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193/17 วรรคสอง ที่โจทก์จะต้องฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมานั้น เพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงตัดหน้ารถตู้โดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับในระยะกระชั้นชิด สุดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะหยุดรถหรือหักหลบได้โดยปลอดภัย เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 5 ฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนประมาทด้วย จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น โจทก์และจำเลยทั้งเจ็ดขออ้างส่งบันทึกคำให้การพยานและพยานหลักฐานในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ของศาลชั้นต้น เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงที่ 25 ธันวาคม 2556 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า ถนนที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถไปและกลับด้านละ 2 ช่องเดินรถ ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 30 – 0057 แม่ฮ่องสอน ในช่องเดินรถด้านซ้ายตามหลังรถบรรทุก 4 คัน โดยนายเครก ได้นั่งโดยสารในรถตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับ จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 3473 เลย และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81 – 3474 เลย ไปในทิศทางเดียวกันในช่องเดินรถด้านซ้ายอยู่หน้ารถตู้โดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับ จากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถตู้โดยสารเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางด้านขวาเพื่อแซงรถบรรทุกที่แล่นอยู่ด้านหน้า ขณะเดียวกันจำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกและรถพ่วงโดยเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางด้านขวาเช่นกัน จึงเกิดเหตุรถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังรถคันอื่น จำเลยที่ 1 ย่อมจะต้องระมัดระวังดูรถคันข้างหน้า หากจะขับรถแซงขึ้นหน้าก็ต้องดูให้ดีเสียก่อนว่าสามารถแซงขึ้นไปได้โดยปลอดภัย แต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถแซงรถบรรทุกที่แล่นอยู่ด้านหน้าถึง 4 คัน ในคราวเดียว ทั้งที่รถแต่ละคันที่แล่นอยู่ด้านหน้ามีความยาวของส่วนหัวลากและส่วนพ่วงรวมกันประมาณ 17 เมตร ในเวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจมองเห็นทางด้านหน้าได้พอแก่ความปลอดภัย และการขับรถแซงรถคันอื่นในลักษณะดังกล่าวย่อมต้องใช้ความเร็วสูง เมื่อพิจารณาสภาพความเสียหายของรถตู้โดยสาร ปรากฏว่ารถตู้โดยสารบริเวณด้านหน้าได้รับความเสียหายอย่างมาก แสดงถึงการชนที่รุนแรงเนื่องจากรถแล่นมาด้วยความเร็วสูง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้โดยสารด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถหยุดหรือชะลอความเร็วของรถหรือหลบหลีกได้ทันเมื่อมีเหตุจำเป็น และแซงรถบรรทุกซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ถึง 4 คัน ในคราวเดียวกันในเวลากลางคืน ทำให้รถตู้โดยสารคันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกและรถพ่วงที่จำเลยที่ 5 ขับในขณะเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางด้านขวาเช่นเดียวกันเป็นเหตุให้นายเครกซึ่งนั่งโดยสารในรถตู้คันที่จำเลยที่ 1 ขับได้รับอันตรายสาหัส ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทอยู่ด้วย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 5 มิได้ระมัดระวังดูรถที่แล่นตามมาทางด้านขวาให้ปลอดภัยโดยขับเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางด้านขวาในระยะกระชั้นชิดกับช่วงที่จำเลยที่ 1 ขับรถแซงไปในช่องเดินรถด้านขวาเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน นับได้ว่าจำเลยที่ 5 ประมาทมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิด 1 ใน 3 ส่วน และจำเลยที่ 5 รับผิด 2 ใน 3 ส่วน จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถตู้โดยสารคันดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ต่อไปว่า จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและจำเลยที่ 1 มีส่วนกระทำละเมิดทำให้นายเครก ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่นายเครกไปแล้ว 1 ใน 3 ส่วน เป็นเงิน 404,055.34 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ฎีกาว่า นายเครกได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดด้วยเหตุละเมิดเดียวกับคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกับที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ให้แก่นายเครก การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกันแก่โจทก์ในคดีนี้อีกจึงเป็นการซ้ำซ้อนกับคดีดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมกับนายเครกต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดทำให้นายเครกได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นเหตุละเมิดครั้งเดียวกันกับคดีนี้ โดยโจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่นายเครกไปเป็นเงิน 1,212,530.52 บาท พร้อมดอกเบี้ย ตามคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1154/2554 ของศาลชั้นต้น ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนของโจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้ชำระให้แก่นายเครกไปแล้วเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลฎีกาได้เรียกสำนวนคดีผู้บริโภคดังกล่าวมาผูกรวมกับสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว ปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อนายเครกโดยจำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเครก ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดต่อนายเครกนั้นได้รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปัญญาเวชอินเตอร์ 30,813 บาท ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ 532,707.50 บาท ค่าบริการขนส่งโดยอากาศยานขนย้ายผู้ป่วยจากจังหวัดอุดรธานีไปกรุงเทพมหานคร 275,000 บาท ค่าโดยสารเครื่องบินกลับประเทศอังกฤษ 265,966.95 บาท ค่าบริการแก่พยาบาล 55,332.62 บาท ค่าเดินทางโดยรถพยาบาลจากสนามบินไปยังบ้านพักของนายเครก 50,345.95 บาท และค่าบริการรถพยาบาล 2,000 บาท ที่โจทก์ได้ชำระให้แก่นายเครกและรับช่วงสิทธิของนายเครกมาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้แล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันนายเครกกับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เช่นนี้ กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์อีกเพราะจะมีผลให้จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่นายเครกผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาแล้วนั้น หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share