แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) จำคุก 1 เดือน เป็นการแก้ไขทั้งบทและโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จำเลยไม่มีเจตนามุ่งเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก จำเลยไม่ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยแย่งการครอบครองสร้อยคอทองคำไปจากผู้เสียหายโดยจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นลักษณะการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทำร้าย บ. ผู้เสียหาย โดยใช้มือบีบคอ 1 ครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือตบบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยลักสร้อยคอทองคำลายเกล็ดมังกรด้านหน้าลายปล้องอ้อย หนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมจี้ทองคำรูปใบไม้ด้านในมีรูปพระนั่งสมาธิ 1 อัน ราคา 27,500 บาท ของผู้เสียหายไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ใช้กำลังกระชากสร้อยคอพร้อมจี้ดังกล่าวไปจากคอผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เหตุเกิดที่ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเหตุการณ์และรายละเอียดของการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและบาดแผลฟกช้ำบวม ซึ่งแพทย์เห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 336 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 27,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 336 (ที่ถูก มาตรา 336 วรรคสอง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุก 2 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 27,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม), 391 (ที่ถูก 391 (เดิม)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตตามคำร้องลงวันที่ 8 กันยายน 2560 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อนุญาตให้ฎีกา จึงไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกา ข้อ 2 ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 (เดิม) จำคุก 1 เดือน เป็นการแก้ไขทั้งบทและโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จำเลยไม่มีเจตนามุ่งเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก เห็นว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายพาหลานไปตัดผมที่ร้านนายหนูจร ขณะเดินผ่านร้านขายของชำ พบจำเลยอยู่ที่หน้าร้านแล้วเกิดโต้เถียงกัน ระหว่างผู้เสียหายยืนรอหลานตัดผม จำเลยเข้ามาในร้านตัดผมแล้วต่อสู้ทำร้ายกันจนมีผู้มาห้าม จำเลยจึงออกจากร้าน นายประดิษฐ์ สามีของผู้เสียหายทราบเรื่อง ได้มาที่ร้านตัดผม จากนั้นจำเลยกลับมาที่ร้านตัดผมและต่อสู้ทำร้ายกับผู้เสียหายอีก ขณะที่ผู้เสียหายต่อสู้กับจำเลยครั้งที่สอง มีผู้มาแยกจำเลยกับผู้เสียหายออกจากกัน ผู้เสียหายยืนในลักษณะก้มทำให้สร้อยคอทองคำที่สวมอยู่ที่คอห้อยลง จำเลยดึงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายจนขาดติดมือแล้ววิ่งไปทางบ้านของจำเลย ระหว่างทางจำเลยทำท่าเหมือนขว้างสร้อยคอทองคำดังกล่าวทิ้ง แต่มิได้แบมือ ทั้งยังพูดว่า สร้อยมึง มึงอยากได้มึงติดตามเอากูขว้างทิ้งแล้ว เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการแย่งการครอบครองสร้อยคอทองคำไปจากผู้เสียหายโดยจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้วอันเป็นลักษณะการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ทราบว่า โจทก์ฟ้องถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่าเป็นการทะเลาะกันครั้งแรกหรือเป็นการทะเลาะกันครั้งที่สอง โดยจำเลยอ้างว่ามีเหตุการณ์ทำร้ายกัน 2 ครั้ง หากเป็นการทะเลาะกันครั้งที่สอง จำเลยให้การปฏิเสธเพราะการทะเลาะกันครั้งที่สอง จำเลยไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหาย อันเป็นฎีกาทำนองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ก็ยกขึ้นฎีกาได้ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทำร้ายนางบุญมี ผู้เสียหาย โดยใช้มือบีบคอ 1 ครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือตบบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยลักสร้อยคอทองคำลายเกล็ดมังกรด้านหน้าลายปล้องอ้อย หนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมจี้ทองคำรูปใบไม้ด้านในมีรูปพระนั่งสมาธิ 1 อัน ราคา 27,500 บาท ของผู้เสียหายไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ใช้กำลังกระชากสร้อยคอพร้อมจี้ดังกล่าวไปจากคอผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เหตุเกิดที่ ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเหตุการณ์และรายละเอียดของการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกที่ข้อศอกซ้ายขนาด 3 เซนติเมตร ที่ริมฝีปากล่างมุมซ้ายด้านในขนาด 1 เซนติเมตร ที่แก้มซ้าย ขนาด 1 เซนติเมตร และมีบาดแผลฟกซ้ำบวมที่หน้าผากขวา ขนาด 3 เซนติเมตร ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน