คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ออกมาใช้บังคับก็ไม่ได้ระบุว่ากิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี หลังจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดให้กิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตเพิ่มขึ้น และให้ถือว่าการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์อย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอรับอนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินกิจการดังกล่าวต่อไปภายในกำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 22 และกระทรวงการคลังได้แจ้งชื่อบริษัทโจทก์ไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้งต่อกรมที่ดินทั้งนับแต่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับอนุญาตแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ไม่เคยแจ้งโจทก์หรือกรมที่ดินว่าไม่อนุญาตตามคำร้องขอดังกล่าวของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิรับซื้อฝากที่ดินพิพาทได้โดยชอบ และมีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนแล้วอ. ย่อมมีอำนาจทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยได้โดยโจทก์ไม่ต้องทำหนังสือมอบอำนาจและแต่งทนายความให้กระทำการดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินกับบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ครบกำหนดแล้วไม่ยอมไถ่คืน และไม่ยอมออกจากที่พิพาท โจทก์บอกกล่าวแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท ให้ส่งมอบที่ดินกับบ้านพิพาทในสภาพเรียบร้อย และใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเป็นโมฆะ ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุมจำเลยถูก ย.กับพวกหลอกลวงให้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจแล้ว ย.กับพวกได้ร่วมกับ อ.ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าจำเลยมอบอำนาจให้ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ และไปทำนิติกรรมขายฝากดังกล่าว ขอให้พิพากษาว่าการขอจดทะเบียนขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทเป็นโมฆะ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดิน และจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนไปทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ สัญญาขายฝากจึงสมบูรณ์ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ไถ่คืน จึงตกเป็นของโจทก์ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยส่งมอบบ้านและที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ8,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยถึงแก่ความตาย นางแมะนิ อานันภรรยาจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลอุทธรณ์อนุญาตศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2518 โจทก์ได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2830 ตำบลสวนหลวง (ที่ 8 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนงกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของจำเลย ในราคา 1,120,000 บาท มีกำหนด 1 ปี โดยมีนายยุทธนาสุดาดวง ลงชื่อเป็นผู้ขายฝากแทนจำเลยโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยลงชื่อไว้จริง ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีดังต่อไปนี้
ประเด็นข้อแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ประเด็นข้อนี้ได้ความตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.4 ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2510มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์อยู่ก่อนแล้วตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515ข้อ 5 ที่จำเลยอ้างถึงในตอนแรกที่ประกาศใช้ ก็ไม่ได้ระบุว่ากิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2515 จึงได้มีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้กิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตต่อรัฐมนตรี และให้ถือว่าการประกอบกิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นการประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์อย่างหนึ่ง กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่รัฐมนตรีประกาศให้กิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตเพิ่มขึ้นจากที่ได้ประกาศไว้แล้วตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 5 ให้อำนาจไว้ ซึ่งในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศให้กิจการใดเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตเพิ่มขึ้นจากที่ประกาศแล้วนี้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 22 บัญญัติว่า ถ้าผู้ประกอบกิจการอยู่ในวันที่รัฐมนตรีกำหนดประสงค์จะประกอบกิจการต่อไปให้ยื่นคำขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ภายในหกสิบวันนับแต่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อได้ยื่นคำร้องขอรับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แล้วให้ดำเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าผู้อนุญาตได้แจ้งให้ทราบถึงการไม่อนุญาต คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับอนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายในกำหนด และกระทรวงการคลังได้มีหนังสือลงวันที่ 24 มกราคม2516 แจ้งชื่อบริษัทโจทก์ไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้กรมที่ดินทราบตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ซึ่งมีชื่อโจทก์อยู่ในลำดับที่ 40ปรากฏว่านับแต่โจทก์ยื่นคำขอรับอนุญาตแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังผู้อนุญาตไม่เคยแจ้งให้โจทก์หรือกรมที่ดินทราบว่าไม่อนุญาตให้โจทก์ประกอบกิจการรับซื้อฝากอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใดเลย โจทก์จึงมีสิทธิรับซื้อฝากที่ดินพิพาทได้โดยชอบ และมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ และเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายอรุณ สุนทรพิทักษ์ ฟ้องและดำเนินคดีนี้แล้วนายอรุณย่อมมีอำนาจแก้ฟ้องแย้งของจำเลยได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจและแต่งทนายความให้การต่อสู้ฟ้องแย้งของจำเลยอีกฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อต่อไปมีว่า จำเลยขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน 2516 นายยุทธนา สุดาดวง หลานชายจำเลยได้มาขอยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลยไปจำนองประกันเงินกู้นางปรียา วังวิวัฒน์จำนวน 350,000 บาท ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคม 2518 นายยุทธนานำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.16 มาให้จำเลยลงชื่อโดยไม่ได้กรอกข้อความ บอกว่าจะนำไปไถ่ถอนจำนองเงินกู้นางปรียา และเอาโฉนดที่ดินพิพาทมาคืนจำเลย จำเลยจึงลงชื่อให้โดยมีนายหาก นาคนาวาลงชื่อเป็นพยาน จำเลยไม่เคยมอบอำนาจให้นายยุทธนาไปทำการขายฝากที่ดินพิพาทกับโจทก์คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวขัดต่อเหตุผลเพราะโจทก์นำนายยุทธนาและนายหากพยานในหนังสือมอบอำนาจมาสืบ นายยุทธนาเบิกความว่าไม่เคยยืมโฉนดที่ดินพิพาทจากจำเลยไปจำนองประกันเงินกู้นางปรียาเลยตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.15ที่จำเลยอ้างก็ระบุว่าจำเลยจำนองที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยกู้ไปจากนางปรียาเองตามคำนายหากกับนายยุทธนาก็ได้ความตรงกันว่า ที่จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.16 ให้แก่นายยุทธนา ก็เพื่อให้นายยุทธนาไปทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ทำไว้กับนางปรียาดังกล่าว ปรากฏว่าก่อนครบกำหนดไถ่การขายฝาก คือเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2519 จำเลยไม่มีเงินไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยได้ขอเพิ่มเงินขายฝากอีก 380,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อีก90,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องไถ่คืน 1,590,000 บาทและขอให้โจทก์ให้คำมั่นว่าจะขายที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 29 มกราคม 2520 โจทก์ตกลงและได้ทำคำมั่นจะขายเอกสารหมาย ล.7 ให้จำเลยลงชื่อไว้และยึดถือไว้คนละฉบับในการจ่ายเงิน 380,000 บาท ให้แก่จำเลยดังกล่าวได้ความว่าโจทก์ได้จ่ายให้เป็นเงินสดและจ่ายเป็นเช็คอีกฉบับหนึ่ง คือเช็คเอกสารหมาย ล.3 จำนวนเงิน 157,500 บาท จำเลยได้รับเช็คเอกสารหมาย ล.3 จากโจทก์แล้ว จำเลยก็นำเช็คฉบับนั้นไปขึ้นเงินจากธนาคารและนำเงินไปใช้ส่วนตัวของจำเลยเอง ที่จำเลยเบิกความว่า เมื่อทราบจากพนักงานของโจทก์ว่านายยุทธนานำที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากกับโจทก์ จำเลยได้ไปติดต่อขอโฉนดที่ดินคืนนางสาวเลียม เธียรประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการของโจทก์บอกว่ามีเงินค่านายหน้าของนายยุทธนาค้างอยู่ที่บริษัทโจทก์จำนวน157,500 บาท และได้ออกเช็คเอกสารหมาย ล.3 ฝากจำเลยไปให้นายยุทธนา จำเลยตามหานายยุทธนาไม่พบจึงนำเงินไปใช้หมดเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล ใช่แต่เท่านั้น ความยังปรากฏต่อไปว่าเมื่อครบกำหนด 6 เดือน ตามคำมั่นจะขายเอกสารหมาย ล.7 แล้วจำเลยอ้างว่ายังไม่มีเงินไถ่ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างคืน จำเลยได้ขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 2 เดือน ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2520 โดยจะขอซื้อคืนในราคา 1,653,600 บาท จำเลยก็ขอให้โจทก์ทำคำมั่นจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอกสารหมาย ล.4 ไว้อีก ลายมือชื่อของจำเลยมองดูด้วยตาเปล่าก็พอทราบได้ ที่จำเลยเบิกความว่าไม่เคยลงชื่อในคำมั่นจะขายเอกสารหมาย ล.7 และ ล.4 มีแต่คำจำเลยคนเดียวลอย ๆทั้งขัดต่อหลักฐานข้างต้นฟังเป็นจริงไม่ได้ ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้นายยุทธนาขายฝากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างให้กับโจทก์และไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์อีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share