แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว กับให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปี บริบูรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วจำเลยส่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จำนวนหนึ่งแล้วไม่ส่งอีก โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เมื่อเงินเดือนจำเลยเพิ่มขึ้นโจทก์ขอให้อายัดเพิ่มเป็นเดือนละ 8,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะและมีงานทำแล้ว ขอให้งดการบังคับคดี โจทก์จำเลยจึงตกลงกันไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม และเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยตามข้อตกลงใหม่จนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว โจทก์จะอ้างว่าข้อตกลงใหม่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม ขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ เพราะโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยในอัตราใหม่ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้จึงไม่ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ไม่ใช่กรณีที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39 ซึ่งเป็นอำนาจของศาลที่จะสั่งเปลี่ยนแปลงค่าอุปการะเลี้ยงดูไปตามพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้และผู้รับก็มีผลเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยโจทก์กับจำเลยยินยอมหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว และให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 5 มกราคม 2540 และในงวดถัดไปภายในวันที่ 5 มกราคมของทุกปี ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือนงวดถัดไปให้ชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือนติดต่อกันจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์
จำเลยมีหนังสือถึงศาลชั้นต้น ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนอายัดเงินเดือนของจำเลยไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสีคิ้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ให้ถอนอายัดเงินเดือนของจำเลยและถอนการบังคับคดีตามคำขอของจำเลยและมีหนังสือลงวันที่ 2 มีนาคม 2552 แจ้งคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งบังคับคดีจำเลยต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธณณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 โดยตกลงหย่าขาดจากกัน จำเลยยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง กับยินยอมชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายปี ปีละ 70,000 บาท และเป็นรายเดือน เดือนละ 3,000 บาท เริ่มชำระภายในวันที่ 5 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ (ผู้เยาว์ทั้งสองเกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2526) หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 แล้ว จำเลยส่งเงินให้โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2540 เดือนละ 9,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ส่งเงินให้โจทก์อีกตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีโดยยื่นคำร้องลงวันที่ 7 มกราคม 2541 ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า จำเลยรับราชการได้รับเงินเดือน 13,040 บาท ขอให้อายัดเงินเดือนของจำเลยไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เดือนละ 6,500 บาท ต่อมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2541 ถึงสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมาแจ้งว่า จำเลยมีรายรับ 13,040 บาท มีรายจ่ายหักจากเงินเดือนคือหนี้เงินกู้สหกรณ์ 10,051.50 บาท กบข. 391 บาท ณกส. 160 บาท เหลือเงินเดือนที่รับจริงเพียง 2,437.50 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นทราบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในหนังสือถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 3 มีนาคม 2541 ว่า โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงกำหนดให้อายัดตามนั้น ต่อมาจำเลยได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 16,890 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์จึงร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 8,000 บาท ได้มีการอายัดตามจำนวนดังกล่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 จนถึงเดือนสิงหาคม 2550 ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2550 จำเลยยื่นคำแถลงและแถลงต่อศาลว่าจำเลยป่วยเป็นโรคต่อมน้ำเหลือง ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก และบุตรผู้เยาว์ทั้งสองบรรลุนิติภาวะกับมีงานทำแล้ว ประสงค์จะขอให้งดการบังคับคดี ในวันนัดพร้อมถัดมา โจทก์กับจำเลยได้เจรจากัน ในที่สุดตกลงกันให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท จนกว่าจะครบตามสัญญาเดิม ซึ่งศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 กันยายน 2550 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินเดือนของจำเลยต่อมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2551 เนื่อจากผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสีคิ้ว ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2552
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลบังคับตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่าจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังไม่ครบถ้วนตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจะต้องชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 1,215,660.11 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 843,023.50 บาท ยังขาดอยู่จำนวน 372,363.61 บาท คู่สัญญาต้องปฏิบัติตามเจตนาที่แสดงออกมาในสัญญาตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 จะบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ แต่จะนำหลักกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยขัดหรือแย้งกับเจตนาของคู่สัญญาที่แสดงไว้ในสัญญาหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวส่วนที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์จนครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่า การที่โจทก์แถลงต่อศาลและร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้อายัดเงินเดือนของจำเลยเดือนละ 6,500 บาท 8,000 บาท และ 5,000 บาท ตามลำดับนั้น แสดงว่าโจทก์สมัครใจยินยอมตกลงเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูกับจำเลยใหม่ หลังจากทราบว่าจำเลยอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระเงินให้โจทก์ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลได้บันทึกไว้ในสำนวนความ การที่โจทก์ตกลงกับจำเลยตามข้อความที่ศาลบันทึกไว้เช่นนี้จึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ตกลงกันเองตามความสมัครใจว่าจะบังคับกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเพียงใดหรือไม่ ซึ่งอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีหาใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยตามข้อตกลงใหม่ที่แถลงต่อศาลจนกระทั่งบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ จึงถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงใหม่ครบถ้วนแล้ว โจทก์จะอ้างว่าจำเลยชำระเงินยังไม่ครบถ้วนและขอให้บังคับคดีตามข้อตกลงเดิมในสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ