คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4974/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาและภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 คือวันที่ 6 ธันวาคม 2547 ถึงวันเวลาในฟ้องข้อ 2 คือวันที่ 6 ธันวาคม 2548 อันเป็นวันที่จำเลยถูกจับกุมได้พร้อมทรัพย์ของกลางที่ถูกคนร้ายลักไป จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจร เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2548 จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยอาจกระทำความผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้อง เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง การที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83
จำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคแรก) จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์พิมพ์ฟ้องผิดพลาดจำเลยเข้าใจฟ้องและไม่หลงต่อสู้ ชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จะลงโทษจำเลยในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้นต้องอาศัยฟ้องและการจะฟ้องขอให้ลงโทษผู้ใดตามกฎหมายต้องเป็นเรื่องที่ผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้อง จะฟ้องล่วงหน้าว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 1 มิถุนายน 2548 และตามคำบรรยายฟ้องในข้อหาความผิดฐานรับของโจรเป็นการกล่าวหาว่า ตามวันเวลาและภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 คือวันที่ 6 ธันวาคม 2547 ถึงวันเวลาในฟ้องข้อ 2 คือวันที่ 6 ธันวาคม 2548 อันเป็นวันที่จำเลยถูกจับกุมได้พร้อมทรัพย์ของกลางที่ถูกคนร้ายลักไป จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยอาจกระทำความผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้องการที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกความข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share