คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15229/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้นั้นจะต้องปรากฏว่า ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยและคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันที่กฎหมายใหม่จะประกาศใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (ฉบับที่ 5) ซึ่งแก้ไขใหม่ตามที่จำเลยอ้างมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันก่อนที่คดีของจำเลยจะถึงที่สุด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยอ่านให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 และอ่านให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง (เดิม) ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 15 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 7 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 32 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและถุงพลาสติก 25 ใบ ของกลาง ยกคำขอให้ริบเงิน 7,100 บาท ของกลาง และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2648/2543 ของศาลชั้นต้น
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2550 จำเลยยื่นคำร้องว่า ฟ้องโจทก์มิได้ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 6,220 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องโจทก์บรรยายชัดเจนว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 12,220 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 217.954 กรัม ไม่ได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 6,220 เม็ด หลังหักออกจาก 6,000 เม็ด ที่จำเลยได้จำหน่ายไปแล้วตามที่จำเลยเข้าใจ ดังนั้น คดีนี้โจทก์จึงบรรยายฟ้องระบุสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน การที่ศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แล้ว ไม่มีเหตุที่จะปรับบทลงโทษและโทษที่ศาลฎีกาลงแก่จำเลยใหม่ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยใหม่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิด…กำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง …เมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และคดีถึงที่สุดก่อนวันที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังใช้บังคับ เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share