คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่าพืช หรือ พืชผลของกสิการซึ่งบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (4) นั้น หมายถึงพืชหรือพืชผลที่ปลูกในการกสิกรรมของกสิกร ฉะนั้น ต้นนุ่นและต้นมะม่วงหิมพานต์ซึ่งผู้เสียหายผู้เป็นกสิกร ด้วยการทำนาปลูกไว้ เฉย ๆ ตามแนวเขต และจำเลยถอนทำลายเสียนั้น จะฟังว่า เป็นพืชหรือพืชผล ในการกสิกรรมของผู้เสียหายตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2505)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดฟันรื้อถอนทำลายรั้ว และหลักเขตรวมทั้งต้นนุ่น และต้นมะม่วงอันเป็นทรัพย์และพืชผลของนายพร้อยซึ่งเป็นกสิกร ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๕๙ (๔)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ ให้จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๔๐๐ บาท ให้รอโทษจำคุกไว้ภายในกำหนด ๑ ปี ส่วนฟ้องและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ต้นนุ่นและต้นมะม่วงหิมพานต์ที่จำเลยถอนเป็นพืชอยู่ในกิจการของกสิกร พิพากษาแก้เฉพาะการปรับบทว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘, ๓๕๙ (๔) ให้ลงโทษตาม มาตร า๓๕๙ (๔) อันเป็นบทหนัก
จำเลยฎีกา
คีดมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า ต้นนุ่นและต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นเล็ก กๆ รวม ๗ ต้นที่จำเลยถอนไปนั้นเป็นพืชผลของกสิกรหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฟังต้องกันมีว่า นาของผู้เสียหายและนาของจำเลยมีคันนากั้นเป็นเขตติดต่อกัน ต้นไม้ดังกล่าว ผู้เสียหายซึ่งเป็นกสิกรได้ปลูกไว้บนคันนา ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ตามความในมาตรา๓๕๙ (๔) แห่งประมวลกฎหมายอาญา คำว่า พืชหรือพืชผล หมายถึงพืชหรือพืชผลที่ปลูกในการกสิกรรมของกสิกร คดีนี้ ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นกสิกรด้วยการทำนา ส่วนต้นไม้ในคดีนี้เป็นแต่ปลูกไว้เฉย ๆ ตามแนวเขต จะฟังว่าเป็นพืชหรือพืชผลในการกสิกรรมของผู้เสียหายตามความหมายแห่งมาตรา ๓๕๙ (๔) ไม่ได้
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share