แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
ผู้แทนโจทก์สั่งให้ลูกจ้างไปซ่อมรถบดถนนที่เสีย ลูกจ้างได้เดินทางไปทันทีและโดยดี แต่รถยนต์ที่ใช้เดินทางไปเกิดเสีย ลูกจ้างช่วยแก้ไขอยู่จนกระทั่งเวลา 16 น. เศษ จึงใช้การได้ ที่ลูกจ้างไม่เดินทางต่อไปเพื่อซ่อมรถบดถนนก็เพราะเห็นว่าจวนจะหมดเวลาทำงานตามปกติ (17 น.) แล้ว ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างขัดคำสั่งโจทก์ โจทก์ให้ลูกจ้างออกจากงาน (เมื่อพ.ศ.2513) จึงต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้าง
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเวลาทำงานฯซึ่งกำหนดว่าถ้านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณีนิยม หรือในวันหยุดงานพักผ่อนประจำปีนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามอัตราที่กำหนดนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน ซึ่งกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้ไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าข้อกำหนดดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นบทบัญญัติเด็ดขาดซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น การที่โจทก์กับลูกจ้างตกลงกันไม่คิดค่าล่วงเวลาเพราะลูกจ้างขอทำงานในวันหยุดชดใช้วันทำงานปกติที่ขาดงาน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ใช้บังคับไม่ได้โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ลูกจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างนายเจียร มีแก้ว เป็นลูกจ้างทำงานในหน้าที่ซ่อมเครื่องมือกล ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2513 โจทก์สั่งให้นายเพียรไปซ่อมรถบดดินของโจทก์ นายเจียรนั่งรถยนต์คันหนึ่งไปเพื่อซ่อมรถบดดินนั้น รถยนต์เสียระหว่างทางจึงหยุดซ่อม เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ผู้แทนโจทก์บอกให้นายเจียรไปซ่อมรถบดดิน นายเจียรไม่ยอมไปแล้วกลับบ้านเสีย วันรุ่งขึ้นก็ไม่ไปทำการซ่อมทั้งไม่รายงานให้ทราบ เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งโจทก์โดยจงใจ และทิ้งหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงสั่งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ และไม่จ่ายเงินค่าล่วงเวลาวันอาทิตย์ เพราะนายเจียรตกลงกับโจทก์ว่า จะทำงานวันอาทิตย์ชดเชยวันที่นายเจียรขาดงาน นายเจียรได้ร้องต่อจำเลย จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้นายเจียร 2,240 บาท อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรมแรงงาน คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ขอให้เรียกกระทรวงมหาดไทย และนายรังสฤษฎ์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อได้รับคำสั่งแล้วนายเจียรได้ไปกับนายชนินท์ทันทีและโดยดีในรถยนต์คันเดียวกัน เมื่อรถยนต์เกิดเสียซึ่งไม่ใช่เพราะความผิดของนายเจียร นายเจียรก็ช่วยแก้ไขอยู่จนกระทั่งเวลา 16 น.เศษ จึงใช้การได้ ที่นายเจียรไม่เดินทางต่อไปเพื่อซ่อมรถบดก็เพราะเห็นว่าจวนหมดเวลาทำงานตามปกติ (17 น.) ดังนี้ ศาลฎีกา เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่านายเจียรขัดคำสั่งโจทก์ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่นายเจียรลูกจ้าง
ฎีกาโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่า การที่นายเจียรขอทำงานชดใช้วันขาดงานในวันหยุดนั้น ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะนายเจียรทำงานด้วยความสมัครใจ เพื่อหวังได้ค่าจ้างและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเวลาทำงาน ฯลฯ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2501 ข้อ 16 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 9 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) เรื่องกำหนดเวลาทำงาน ฯลฯ มีความว่า “ถ้าให้ลูกจ้างประจำดังต่อไปนี้ทำงานในวันหยุดทำงานตามประเพณีนิยมหรือในวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ดังนี้ (1) ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายสัปดาห์ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมงหรือลูกจ้างระยะเวลาอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันหรือชั่วโมงทำงานปกติ โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างเป็นรายวัน หรือเป็นรายชั่วโมงฯลฯ” ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างถือว่าข้อกำหนดดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นบทบังคับเด็ดขาดซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โจทก์นำสืบว่ามีการตกลงระหว่างโจทก์กับนายเจียรลูกจ้างไม่คิดค่าล่วงเวลาเพราะนายเจียรขอทำงานในวันหยุดใช้วันทำงานปกติที่ขาดงาน ศาลฎีกาเห็นว่าหากมีการตกลงดังกล่าวจริงข้อตกลงนั้นก็ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้นายเจียรลูกจ้าง
ฉะนั้น เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าล่วงเวลาให้แก่นายเจียรลูกจ้างและจำเลยได้ออกคำสั่งที่ 55/2516 ให้โจทก์จ่าย คำสั่งนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์
พิพากษายืน