คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยแต่ส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้จำเลยไม่ได้ ศาลจึงประกาศเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์ในประกาศมีกำหนดไว้ว่าให้จำเลยยื่นคำให้การในวันที่ 9 พฤษภาคม 2492 แต่จำเลยกลับมาขอรับสำเนาฟ้อง และหมายเรียกไปจากศาลเองในวันที่ 23 เมษายน 2492 แล้วเพิ่งมายื่นคำให้การเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2492 ดังนี้แม้จะเกินกำหนด 8 วัน แต่เมื่อจำเลยยืนยันว่าเข้าใจโดยสุจริตว่ายื่นคำให้การได้ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2492 ตามกำหนดในประกาศแลศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยอาจเข้าใจดังนั้นได้จริง ศาลก็มีอำนาจสั่งว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องแต่ส่งหมายเรียกสำเนาฟ้องให้จำเลยไม่ได้ ศาลจึงประกาศเรียกจำเลยทางหนังสือพิมพ์ ปรากฎว่าทางหนังสือพิมพ์เสียไทยได้ลงประกาศเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๙๒ ในประกาศมีกำหนดไว้ว่า ศาลได้นัดให้จำเลยยื่นคำให้การในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๙๒
ในวันที่ ๒๓ เดือนเมษายน ๒๔๙๒ นั้นจำเลยได้ไปศาลขอรับหมายเรียกสำเนาฟ้อง เจ้าพนักงานได้จ่ายให้จำเลยรับไป
วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๒ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ขอให้ศาลพิจารณาฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๙๒ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี แล้วต่อมาวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๙๒ จำเลยยื่นคำคัดค้านคำสั่งศาลที่สั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยอ้างว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การตามกำหนดในประกาศ และจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่ายื่นได้ภายในกำหนดประกาศ หาได้จงใจขาดนัดไม่ ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตตามจำเลยขอ ได้ทำการพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่จงใจขาดนัด จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลย ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลฎีกาเห็นว่า กำหนดเวลายื่นคำให้การของจำเลย คือภายใน ๘ วันตามกำหนดในหมายเรียก เมื่อไม่ยื่นภายในกำหนด ก็เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เรื่องนี้ได้ความว่าในประกาศทางหนังสือพิมพ์มีกำหนดเวลาให้จำเลยทำคำให้การยื่นต่อศาลไว้ และจำเลยก็ร้องอยู่ว่าเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยมีเวลายิ่นคำให้การตามนั้นได้อยู่ เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยอาจเข้าใจดังนั้นได้จริง จะว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นให้การ ไม่ถนัด ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว จึงพิพากษายืน

Share