คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8084/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 4 ประการ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือก แต่สำหรับแนวทาง 2 ประการ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงหรือกำหนดระบุแนบท้ายไว้แต่อย่างใด จึงยังคงเหลือแนวทางการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์อาจเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ตามสัญญาดังกล่าวอีกเพียง 2 แนวทาง กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารโจทก์ในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น การที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศเท่ากับว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปเป็นเงินเยนอันเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เงินไทยชำระหนี้ดังกล่าวไปและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เงินไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารตัวแทนโจทก์ไปเมื่อใด หนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายไปจึงยังคงเป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอันจะถือได้ว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็นเงินไทยในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ได้จ่ายเงินแทนโจทก์หรือในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้อีกทางหนึ่งตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ตามประกาศของธนาคารโจทก์ ดังที่ปรากฏในรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้าและในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งควรเป็นเบี้ยปรับที่หากสูงเกินส่วนศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจะเห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 มีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคืนให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่งต่างหาก โดยระบุว่าให้ใช้อัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาแก่จำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และในการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) และในข้อ 3 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว และเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้จนถึงวันฟ้อง เมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวและข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ที่ระบุว่า “อัตราสูงสุด” ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า “อัตราสูงสุด” ว่า “ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด” จึงหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าว อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ นั่นเอง และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ก็ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราต่าง ๆ ตามรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยมาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 263,997,536.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 177,772,775 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทรวม 9 ฉบับ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระแก่โจทก์จนกว่าจะครบกับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ในระหว่างอุทธรณ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษากำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทคำนวณจำนวนหนี้ต้นเงินเป็นเงินไทยนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์คิดคำนวณตามคำฟ้องและตามที่โจทก์นำสืบเนื่องจากได้มีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทออกไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขาย ในปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ในสัญญาทรัสต์รีซีททั้งเก้าฉบับซึ่งเป็นแบบพิมพ์สัญญามีข้อความเหมือนกัน โดยสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนว่า “…ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคาร (โจทก์) ต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท หรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร…” เห็นได้ว่า ตามสัญญาดังกล่าวโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์เป็นเงินไทย โดยระบุแนวทางในการใช้อัตราแลกเปลี่ยนไว้ 4 ประการ ให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือก แต่สำหรับแนวทาง 2 ประการ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันไว้โดยเฉพาะ และอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงหรือกำหนดระบุแนบท้ายไว้แต่อย่างใด จึงยังคงเหลือแนวทางการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์อาจเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนได้ตามสัญญาดังกล่าวอีกเพียง 2 แนวทาง กล่าวคือ ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 หรือใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารโจทก์ในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น การที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ในต่างประเทศได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้วหักเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศเท่ากับว่าโจทก์ได้จ่ายเงินไปเป็นเงินเยนอันเป็นเงินต่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้เงินไทยชำระหนี้ดังกล่าวไปและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้เงินไทยไปชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ธนาคารตัวแทนโจทก์ไปเมื่อใด หนี้จำนวนเงินที่โจทก์จ่ายไปจึงยังคงเป็นหนี้เงินต่างประเทศอยู่ เมื่อไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนอันจะถือได้ว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุที่จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนเป็นเงินไทยในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์ได้จ่ายเงินแทนโจทก์หรือในวันที่ธนาคารตัวแทนโจทก์หักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในต่างประเทศตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงชอบที่จะเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้อีกทางหนึ่งตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ตามประกาศของธนาคารโจทก์ดังที่ปรากฏในรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้าและในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งควรเป็นเบี้ยปรับที่หากสูงเกินส่วนศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ แต่เมื่อพิจารณาตามสัญญาทรัสต์รีซีท ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยระบุในข้อ 4 ว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ได้ขายสินค้าดังกล่าวไม่ว่าจะขายในรูปวัตถุดิบ หรือในรูปสินค้าสำเร็จรูป หรือนำสินค้าวัตถุดิบมาประกอบ ผลิตแล้วนำออกขาย หรือถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมิได้นำสินค้าออกขายก็ดี หรือถึงแม้ว่าสินค้านั้นจะเป็นสินค้าประเภททุนซึ่งไม่ได้นำออกขายก็ตามข้าพเจ้าจะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร (โจทก์) โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายสัญญานี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร ตลอดจนยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ…ต่อปี) นับแต่วันที่ธนาคารได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนข้าพเจ้ารวมทั้งเสียค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายใดๆ อันเกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีทตามสัญญานี้ทุกอย่างทุกประการ” และมีข้อความระบุในข้อ 7 ว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ตกเป็นผู้ผิดนัดสัญญา…ข้าพเจ้ายอมให้ธนาคาร (โจทก์) คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4…” ซึ่งตามสัญญาข้อ 7 นี้อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดก็คืออัตราสูงสุดตามข้อ 4 นั่นเอง จึงเห็นได้ว่า สัญญาทรัสต์รีซีททั้งเก้าฉบับ มีการตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดซึ่งสามารถตรวจดูได้ตามประกาศธนาคารโจทก์อันได้แก่ประกาศธนาคารโจทก์ในชุดเอกสารหมาย จ.64 นั่นเอง ทั้งนี้โดยข้อความตามสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตคืนให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 เริ่มชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เป็นต้นไป ซึ่งกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวทวงถาม ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่งต่างหาก โดยระบุว่าให้ใช้อัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ซึ่งย่อมหมายถึงอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 นั่นเอง จึงเห็นได้ว่า สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นสัญญาที่ระบุถึงอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดเอาแก่จำเลยที่ 1 ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ และในการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ โจทก์จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) และในข้อ 3 ของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเป็นประกาศที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาทรัสต์รีซีทคดีนี้จนถึงวันฟ้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีและส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีนั้น และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดเว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ธนาคารประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้น โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น ส่วนในระหว่างช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ผิดนัดนั้น โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ไม่เกินอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดหรืออัตราลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น และเมื่อพิจารณาถึงหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า “อัตราสูงสุด” ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า “อัตราสูงสุด” ว่า “ที่ธนาคาร (โจทก์) ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด” จึงหมายถึง อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดังกล่าว อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามที่ปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่างๆ นั่นเอง และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 ก็ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าในการคิดดอกเบี้ยของโจทก์แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราต่างๆ ตามรายงานการคำนวณภาระหนี้ของลูกค้า โจทก์คิดเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะแม้เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาในส่วนดอกเบี้ยมาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หนี้ของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้เป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนผลลัพธ์ที่ได้จากการคิดคำนวณต้นเงิน ดอกเบี้ย และการหักชำระหนี้ดังต่อไปนี้… โดยจำนวนหนี้ที่คำนวณได้คิดถึงวันฟ้องตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับต้องไม่เกินจำนวนตามคำฟ้องและตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งเก้าฉบับดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์เฉพาะส่วนต้นเงินจำนวนไม่เกิน 160,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ซึ่งยังคงเหลือเฉพาะเรื่องการบังคับทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่นั้นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ในส่วนเฉพาะค่าขึ้นศาลจำนวนกึ่งหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ.

Share