คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญากันโดยโจทก์มอบเครื่องไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟให้จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนในการที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้เสียหายและโจทก์ร่วมในคดีอาญายอมถอนคำร้องทุกข์เพื่อศาลฎีกาจะได้สั่งจำหน่ายคดีและปล่อย ท. ไป แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 นำคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 ไปยื่นต่อศาลอาญา ปรากฏว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับในคำร้องแตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และตราที่ประทับในใบแต่งทนายที่จำเลยที่ 1 ยื่นไว้ในคดีอาญาศาลอาญาจึงต้องเรียกจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มาสอบถาม แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมไปศาลหลายนัดจนศาลอาญาเห็นว่าเป็นการประวิงคดี ศาลอาญาจึงให้ยกคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์นั้นเสีย และได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้คู่ความฟัง ปรากฏว่าศาลฎีกาคงให้ลงโทษ ท. ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปศาลเพื่อมิให้ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีและปล่อย ท. ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ไปศาล ศาลอาญาก็ไม่อาจส่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลฎีกาสั่งได้เพราะไม่อาจทราบได้ว่าเป็นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำต้องคืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายทองย้อย สรงประภา กับพวก ร่วมกันกระทำความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พนักงานอัยการได้ฟ้องนายทองย้อย สรงประภา กับพวก และจำเลยที่ 1 ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสามและโจทก์ได้ทำสัญญากัน โดยจำเลยทั้งสามยอมถอนคำร้องทุกข์คดีนั้น และโจทก์ยอมมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหนึ่งเครื่องพร้อมทั้งแผงไฟราคา 62,500 บาท และเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด เงิน 5,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามกับพวก จำเลยทั้งสามผิดสัญญาไม่ถอนคำร้องทุกข์จนศาลอาญายกคำร้องและอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งพิพากษาให้จำคุกนายทองย้อย 1 ปี โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามคืนทรัพย์ดังกล่าวจำเลยที่ 3 คงคืนให้โจทก์เฉพาะเช็ค ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมแผงไฟให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมทั้งค่าเสียหายนับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันชำระราคาเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟตามฟ้องในสภาพที่รับไปจากโจทก์ให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาและค่าเสียหายให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทองย้อย สรงประภา และบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด ต่อศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ๆ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและแต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นทนายความ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำคุกนายทองย้อยและปรับบริษัทที่ดินและอาคารสงเคราะห์ จำกัด นายทองย้อยและบริษัทที่ดิน ฯ จำกัด ฎีกา ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1776/2510 ของศาลอาญา ต่อมาศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ส่งหมายนัดให้นายทองย้อยไม่ได้ ต้องเลื่อนการอ่านหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายนัดอ่านวันที่ 5 มกราคม 2513 ในวันที่ 3 มกราคม 2513 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากัน โดยจำเลยที่ 1 จะถอนคำร้องทุกข์ในคดีอาญาดังกล่าวในวันที่ 5 มกราคม 2513 และโจทก์ตกลงมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟและเงิน 5,000 บาท ตามเช็คแก่จำเลยในวันทำสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ครั้นวันที่ 5 มกราคม 2513 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทนายของจำเลยที่ 1 ได้นำคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 ไปยื่นต่อศาลอาญาพนักงานอัยการคัดค้านคำร้อง ศาลอาญาเห็นว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับในคำร้องไม่เหมือนกับในใบแต่งทนายความ สมควรจะได้สอบตัวผู้แทนโจทก์ร่วมก่อน จำเลยที่ 3 รับจะนำจำเลยที่ 2 มาให้ศาลสอบ ศาลอาญาสั่งให้นัดพร้อมในวันที่ 12 มกราคม 2513 ถึงวันนัด จำเลยที่ 3 แถลงว่าจำเลยที่ 2 เป็นลมโดยกระทันหัน ขอเลื่อนไปวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ครั้นถึงวันนัด จำเลยที่ 3 แถลงว่าจำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาเกี่ยวกับที่ดินที่อำเภอหาดใหญ่ ขอเลื่อนไปวันที่ 30 เดือนเดียวกัน แต่เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 3 แถลงว่าจำเลยที่ 2มีอาการความดันโลหิตสูง ถ้าเดินทางไปไหนเกรงจะเป็นลม ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ 2 ศาลอาญาอนุญาตให้เลื่อนการนัดพร้อมไปวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2513 และออกหมายเรียกจำเลยที่ 2 แต่ส่งหมายให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ พอถึงวันนัด จำเลยที่ 3 แถลงว่าจำเลยที่ 2 ไปต่างจังหวัดยังไม่กลับ ขอเลื่อนไปอีกครั้งหนึ่ง ศาลอาญาเห็นว่า เป็นการประวิงคดี ให้ยกคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ และในวันเดียวกันนั้น ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง ปรากฏว่าศาลฎีกาคงให้ลงโทษนายทองย้อยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์ตกลงมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟตามฟ้องและเงิน 5,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ก็เพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายและโจทก์ร่วมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1776/2510 ของศาลอาญา ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีดังกล่าว เพื่อศาลฎีกาจะได้สั่งจำหน่ายคดีและปล่อยนายทองย้อย สรงประภาไป แต่เมื่อจำเลยที่ 3 เอาคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2513 ไปยื่นนอกจากพนักงานอัยการโจทก์จะคัดค้านแล้ว ยังปรากฏว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับในคำร้องดังกล่าว แตกต่างกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และตราที่ประทับในใบแต่งทนายความที่จำเลยยื่นไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1776/2510 ศาลอาญาจึงต้องเรียกจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการมาสอบถามว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และเป็นตราของจำเลยที่ 1 หรือเป็นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมมาศาล ทั้ง ๆ ที่ศาลอาญาอนุญาตให้เลื่อนไปตามที่จำเลยที่ 3 แถลงหลายนัด โดยเฉพาะในวันนัดวันที่ 30 มกราคม 2513 จำเลยที่ 2 ไม่มาศาล อ้างว่ามีอาการความดันโลหิตสูง ถ้าจะเดินทางไปไหนเกรงจะเป็นลม แต่กลับปรากฏว่าหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังเดินทางไกลไปถึงอำเภอหาดใหญ่ได้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปศาล เพื่อมิให้ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีและปล่อยนายทองย้อย สรงประภา ตามที่ตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย จ.1 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ไปศาล ศาลอาญาก็ไม่อาจส่งคำร้องนั้นไปให้ศาลฎีกาสั่งได้เพราะไม่อาจทราบได้ว่าเป็นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยที่ 1 จะต้องคืนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งแผงไฟตามฟ้องให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

พิพากษายืน

Share