คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงิน ชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานของจำเลยมีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เช่นระยะเวลาการทำงาน เป็นต้น เงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวเป็นเงิน ประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 ก็ตาม แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้ ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงิน ช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไปจำเลยย่อมมีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานได้ เมื่อปรากฏว่าระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชย จำนวนหนึ่ง โดยคำนวณตามสูตรที่จะกล่าวต่อไป แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงินซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน กรณี ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชย ตามกฎหมายแรงงานการที่จำเลยกำหนดไว้ในระเบียบ ว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจากจำเลยเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม ปรากฏว่า โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 แต่จำเลยไม่ชำระกรณีถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ปี 2511ครั้งสุดท้ายเป็นผู้จัดการโครงการพิเศษ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 100,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2541จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 180 วันเป็นเงิน 600,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า1 เดือน เป็นเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ นอกจากนี้จำเลยมีระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินตอบแทนเมื่อพนักงานออกจากงาน เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศของจำเลย เมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงานในอันที่จะนำไปใช้เพื่อการดำรงชีพอยู่อย่างผาสุขในยามชราและเพื่อนำไปใช้ลงทุนแสวงหาดอกผลไว้เป็นค่าใช้จ่ายโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินตามระเบียบดังกล่าวเท่ากับเงินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือนเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์เท่ากับเงินเดือน 18 เดือนแต่ระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าให้เป็นเงินค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน เงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อออกจากบริษัทจำเลยอีก 11 เดือนซึ่งไม่ถูกต้องเพราะตามระเบียบดังกล่าว โจทก์มีสิทธิได้รับเงิน18 เดือน ซึ่งเงินนี้เป็นเงินประเภทอื่นจำนวนเดียวแบ่งแยกไม่ได้จึงไม่มีค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมอยู่ด้วย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 700,000 บาทให้แก่โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย600,000 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินจำนวน700,000 บาทตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยได้จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานของจำเลยฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2528ซึ่งพนักงานอาวุโสจะได้รับเงินเป็นเงินก้อน คำนวณจากฐานดังจะกล่าวต่อไป โดยหักจำนวนเงินที่บริษัทจะต้องจ่ายตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากออกจากงานแล้ว โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 3 ปี มีสิทธิได้รับเงิน 18 เดือน โดยหักเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงาน คือค่าชดเชย 6 เดือนและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยเป็นการช่วยเหลือจำนวน 11 เดือนเท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไปถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.2 โดยแยกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน และเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อออกจากบริษัทฯ ไปอีก 11 เดือน จึงเป็นการจ่ายเงินถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานเอกสารหมาย จ.ล.1 มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชยแตกต่างจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า แม้การจ่ายเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานของจำเลย เอกสารหมาย จ.ล.1 มีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เช่นระยะเวลาการทำงานเป็นต้น เงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยดังกล่าวเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ก็ตาม แต่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไป ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน เอกสารหมาย จ.ล.1 ได้ ปรากฏว่าระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งโดยคำนวณตามสูตรที่จะกล่าวต่อไปแต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงินซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือนตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือเมื่อออกจากงานเอกสารหมาย จ.ล.1 แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ตามเอกสารหมาย จ.ล.2ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดตั้งแต่วันเลิกจ้างนั้นเห็นว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6จำเลยไม่ชำระ กรณีถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share