คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 411/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งหกได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง ราคาที่ดินพิพาทในคดีนี้เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งหกแล้ว ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา 17 ประกอบมาตรา 24 (4) ศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมฯ มาตรา 16 วรรคท้าย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 19 หน้า 106 ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา เมื่อปี 2546 จำเลยทั้งหกขออนุญาตนำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดหน้าดินในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือซึ่งที่มีอาณาเขตติดต่อกับทางเกวียน ตั้งแต่ทิศตะวันตกไปจนถึงทิศตะวันออกตลอดแนวติดกับทางเกวียน กว้าง 13 เมตร ยาว 300 เมตร ลึก 3 เมตร เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา ราคาประเมินเป็นเงิน 81,648 บาท เพื่อนำดินไปถมทางเกวียนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น โดยมีข้อตกลงว่าให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่ถูกขุดหน้าดินไปเหมือนเดิม แต่เมื่อจำเลยทั้งหกขุดหน้าดินของโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยทั้งหกได้นำป้ายมาปักไว้ในที่ดินของโจทก์มีข้อความว่า ห้ามจับปลาในร่องน้ำ และห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในร่องน้ำกับได้นำราษฎรเข้ามาจับปลาของโจทก์ที่เลี้ยงไว้ในร่องน้ำ เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการทำนาในที่ดินที่ขุดเป็นร่องน้ำปีละ 10,000 บาท ขาดผลประโยชน์ในการนำน้ำในร่องน้ำมาปลูกผักสวนครัวมีรายได้ปีละ 10,000 บาท และขาดผลประโยชน์ในการเลี้ยงปลาในร่องน้ำมีรายได้ปีละ 10,000 บาท นับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างถมดินทำให้ร่องน้ำกลับสู่สภาพเดิมเป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อรวมกับค่าที่ดินของโจทก์จำนวน 81,648 บาท เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 161,648 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินที่ขุดเป็นร่องน้ำกว้าง 13 เมตร ยาว 300 เมตร ลึก 3 เมตร เป็นที่ดินโจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งหกจัดการถมร่องน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งหกไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ดำเนินการเองโดยให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท และให้จำเลยทั้งหกชำระค่าขาดผลประโยชน์ในการทำนาปีละ 10,000 บาท ค่าขาดผลประโยชน์ในการปลูกผักสวนครัวปีละ 10,000 บาท และค่าขาดผลประโยชน์จากการเลี้ยงปลาปีละ 10,000 บาท นับแต่ปี 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น คิดค่าขาดผลประโยชน์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท
จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาโจทก์แถลงขอสละคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 โดยโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องให้จำเลยทั้งหกนำดินมาถมในร่องน้ำในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยทั้งหกจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและจำเลยทั้งหกอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 รวมกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ที่จะพิจารณาคดี จึงมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์
ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ จึงต้องพิจารณาประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์ฝ่ายเดียว ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง อันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งเป็นประเด็นหลัก แม้โจทก์จะมีคำขอเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์และขอให้จำเลยทั้งหกนำมูลดินมาถมในร่องน้ำที่พิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม หากไม่ดำเนินการขอให้จำเลยทั้งหกใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท มาด้วย ก็เป็นเพียงคำขอต่อเนื่องในเรื่องสิทธิครอบครอง อันเป็นเพียงคำขออุปกรณ์ คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีจากศาลจังหวัดสุรินทร์จึงเป็นการผิดหลง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี ให้ยกเลิกวันนัดสืบพยาน และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลแขวงสุรินทร์ชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คดีนี้เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ดังที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถทำนาในที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งหกขุดหน้าดินไปไม่สามารถใช้น้ำในร่องน้ำปลูกผักสวนครัว และไม่สามารถเลี้ยงปลาในร่องน้ำดังกล่าวได้และมีคำขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินส่วนที่จำเลยทั้งหกขุดเป็นร่องน้ำเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดผลประโยชน์ในการใช้ที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งหกขุดเป็นร่องน้ำ แม้จำเลยทั้งหกจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งหกได้โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์แต่เป็นที่ดินสาธารณะ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง คือ 81,648 บาท ที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต่อไปมีว่า ที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความชอบหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้มีราคา 81,648 บาท ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งหกเป็นเงิน 80,000 บาท เมื่อราคาที่ดินและค่าเสียหายรวมกันเป็นเงิน 161,648 บาท ไม่เกิน 300,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 24 (4) ศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี และให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลแขวงสุรินทร์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดีและคำสั่งไม่รับโอนคดี ให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share