คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8602/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยและจะใช้ที่ดินของโจทก์และจำเลยเพื่อทำสวนส้ม จึงต้องปรับแต่งหน้าดินของโจทก์และจำเลยให้มีระดับหน้าดินเท่ากันก่อนจะขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำ การที่จำเลยนำดินที่ขุดจากที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยเพื่อให้มีระดับพื้นดินเท่ากัน เป็นการปรับปรุงที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลยให้มีสภาพเหมาะสมแก่การทำสวนส้ม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่เช่าตามประเพณีนิยมปกติ และเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดินแล้วโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยปรับแต่งหน้าดินให้เรียบหรือคงไว้ในสภาพเดิมได้ตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าที่ดินการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวบอกเลิกสัญญาเช่าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 ตำบลองครักษ์อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 ของโจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยทำที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยเอาดินไปถมคืนในที่ดินของโจทก์ให้เต็มเนื้อที่ที่ขุดไปเนื้อที่ 20 ไร่ ลึก 60 เซนติเมตร หรือจำนวน 100 คันรถบรรทุกสิบล้อ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3138ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยไปจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2531 หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยนำดินไปถมคืนในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ 10 ไร่ สูง 50 เซนติเมตร หรือจำนวน 100 คันรถบรรทุกสิบล้อและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2537จนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3138 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3139 ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกันตั้งอยู่ที่ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกเนื้อที่แปลงละ 49 ไร่ 2 งาน 19 ตารางวา ที่ดินของโจทก์อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 โจทก์ทำสัญญาและจดทะเบียนให้จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเพื่อทำสวนส้ม ค่าเช่าปีละ 50,000 บาท มีกำหนด 22 ปีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยกระทำการตามฟ้องเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาจำเลยว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าโดยจำเลยขุดหน้าดินในที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลย ข้อวินิจฉัยจึงมีว่าจำเลยขุดหน้าดินในที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยหรือไม่ หากจำเลยกระทำการดังกล่าวข้อวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อแรกโจทก์มีตัวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานกับมีนายสุรัตน์ นันทโกวัฒน์ นายฉลวย สุบุญ นายไพศาล นาฑี และร้อยตำรวจเอกอรุณ เอกพงษ์ เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยใช้รถขุดดินไปขุดหน้าดินในที่ดินของโจทก์ขึ้นรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล้วนำไปถมที่ดินของจำเลย จำเลยมีตัวจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เดิมจำเลยทำสวนส้มในที่ดินของจำเลยโดยรับคำแนะนำจากเกษตรอำเภอองครักษ์ในการดูแลต้นส้มทำให้ต้นส้มสมบูรณ์ จำเลยคิดจะขยายสวนส้มออกไปจึงเช่าที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดกันแต่จำเลยยังไม่ได้ใช้ที่ดินของโจทก์ทำสวนส้มทันที เนื่องจากต้องไปดูแลการปลูกสร้างบ้านใหม่ ต่อมาปี 2533 สวนส้มของจำเลยถูกน้ำท่วมเสียหาย จำเลยจึงหยุดทำสวนส้มจนกระทั่งปี 2535 จำเลยว่าจ้างให้นายประชุม สร้อยทองคำ ทำการปรับแต่งหน้าดินทั้งในที่ดินของโจทก์และจำเลยให้เท่ากันเพื่อทำสวนส้ม ครั้นปี 2537 จำเลยว่าจ้างให้นายไชยยันต์ หอมจิตร ปรับแต่งหน้าดิน ทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบและขุดร่องน้ำตามแบบแปลนเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 5 ถึงที่ 7 ภาพถ่ายหมาย ล.1 ภาพที่ 3 และที่ 4 เป็นภาพแสดงการปรับหน้าดินในที่ดินของโจทก์โดยขุดหน้าดินในที่ดินของโจทก์ส่วนที่มีระดับสูงไปถมในที่ดินของโจทก์ส่วนที่มีระดับต่ำไม่ได้ขุดหน้าดินไปถมที่ดินของจำเลยนายประชุมพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อปี 2535จำเลยว่าจ้างให้กลบร่องสวนในที่ดินของจำเลย ขณะนั้นสภาพที่ดินของโจทก์มีลักษณะลุ่ม ๆ ดอน ๆ และมีหนองน้ำ และนายไชยยันต์พยานจำเลยอีกปากหนึ่งผู้รับจ้างจำเลยปรับหน้าดิน ทำคันดินกั้นน้ำและขุดร่องน้ำเบิกความว่า ที่ดินของโจทก์ด้านหน้าเป็นเนิน ส่วนด้านหลังเป็นบ่อ 2 ถึง 3 บ่อ การปรับแต่งหน้าดินในที่ดินของโจทก์ต้องขุดหน้าดินด้านหน้าไปถมบ่อด้านหลัง และเนื่องจากที่ดินของโจทก์ด้านหน้ากับด้านหลังมีระยะกันประมาณ 1 กิโลเมตร จึงต้องใช้รถบรรทุกสิบล้อขน พยานกระทำการตามที่จ้างได้แต่เพียงปรับแต่งหน้าดินและทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบเท่านั้น โดยไม่ได้ขุดร่องน้ำเพราะลูกจ้างของพยานถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมไปหลายครั้ง เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันแล้ว โจทก์ยังมีภาพถ่ายหมาย จ.5 ภาพที่ 4 และที่ 5 กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.8 มาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นนายสมบูรณ์ศักดิ์ ปริยานนท์ นายอำเภอองครักษ์ ขณะเกิดเหตุได้เบิกความเป็นพยานจำเลยตอบคำถามค้านว่า พยานตรวจดูสำนวนการสอบสวนแล้วเชื่อว่ามีการขุดหน้าดินไป ส่วนจะเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ ไม่แน่ใจ ยังมีความสงสัยว่าจำเลยมีเจตนาลักทรัพย์หรือไม่ ส่วนพยานจำเลยคงมีแต่พยานบุคคลเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ส่วนที่จำเลยเบิกความว่าเมื่อเดือนเมษายน 2537 จำเลยรับแจ้งทางโทรศัพท์จากคนงานที่สวนส้มว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลอื่นอีกหลายคนไปถ่ายรูปโดยบอกให้รถบรรทุกดินที่ขุดจากที่ดินของจำเลย (น่าจะเป็นที่ดินของโจทก์) ไปเทดินลงในที่ดินของจำเลยและถ่ายรูปไว้ อันมีความหมายว่าภาพถ่ายหมาย จ.5 ที่รถบรรทุกสิบล้อนำดินไปถมในที่ดินจำเลยเกิดจากคนขับรถบรรทุกสิบล้อถูกบังคับให้กระทำเพื่อถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานนั้น จำเลยก็มิได้นำคนโทรศัพท์ดังกล่าวมาเบิกความยืนยันในข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานตำรวจและบุคคลที่บังคับคนขับรถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว ทั้งที่จำเลยเป็นผู้เสียหายโดยตรง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยขุดหน้าดินในที่ดินโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยส่วนการกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์หรือไม่นั้นได้ความจากคำนายโชติ ถิ่นทับปูด เกษตรอำเภอองครักษ์เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าพื้นที่อำเภอองครักษ์เป็นที่ราบลุ่ม หากปีใดฝนตกมากอาจจะเกิดน้ำท่วม บางปีแล้งน้ำการทำสวนผลไม้ในอำเภอองครักษ์จึงต้องขุดร่องน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและทำคันดินกั้นน้ำรอบสวนด้านนอกเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งนายฉลวยและนายไพศาลพยานโจทก์เบิกความยอมรับในข้อนี้ ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า เดิมที่ดินของโจทก์เป็นที่นา จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์เพื่อทำสวนส้ม ดังนี้ เมื่อจำเลยจะใช้ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยทำสวนส้มจึงต้องทำคันดินกั้นน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันน้ำท่วมและขุดร่องน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งในการขุดร่องน้ำนี้ได้ความจากคำของนายฉลวยพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า จะต้องเกลี่ยหน้าดินในแปลงให้มีระดับพื้นดินเท่ากันก่อน ดังนั้น การที่จำเลยจะใช้ที่ดินของโจทก์และจำเลยทำสวนส้มจึงต้องปรับแต่งหน้าดินโดยเกลี่ยดินในที่ดินของโจทก์และจำเลยให้มีระดับหน้าดินเท่ากันก่อนจะขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำ จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยนำดินที่ขุดจากที่ดินของโจทก์ไปถมในที่ดินของจำเลยเพื่อให้ที่ดินของโจทก์และจำเลยมีระดับพื้นดินเท่ากัน เพื่อจะทำการขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำต่อไป ซึ่งต่อมาจำเลยได้ขุดร่องน้ำและทำคันดินกั้นน้ำในที่ดินของโจทก์และจำเลยตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรองครักษ์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพวกในข้อหาความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์แต่ปรากฏว่าพนักงานอัยการจังหวัดนครนายกมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยกับพวกตามความเห็นของพนักงานสอบสวนตามสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการจังหวัดนครนายก เอกสารหมาย ล.8 จึงเห็นว่า การที่จำเลยขุดหน้าดินในที่ดินโจทก์แล้วนำไปถมในที่ดินของจำเลยดังกล่าวเป็นการปรับปรุงที่ดินทั้งของโจทก์และจำเลยให้มีสภาพเหมาะสมแก่การทำสวนส้ม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่เช่าตามประเพณีนิยมปกติและเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าที่ดินแล้วโจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยปรับแต่งหน้าดินให้เรียบหรือคงไว้ในสภาพเดิมได้ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.3 จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ โจทก์ไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวบอกเลิกสัญญาเช่าได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาเช่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share