แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 คำว่า ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี มีความหมายว่า มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นโดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้สินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีคือหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ทั้งจำเลยทั้งสองก็เป็นสามีภริยากัน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินตามเช็ครวมจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระหนี้เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์คนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาเช่าซื้อเครื่องเสียงและระบบไฟฟ้าจากโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องเสียงและระบบไฟฟ้าให้จำเลยที่ ๒ แล้ว และจำเลยที่ ๒ ใช้ประโยชน์เครื่องเสียงและระบบไฟฟ้าดังกล่าวตลอดมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๒ ได้มอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ ฉบับแรกจำเลยที่ ๑ ลงชื่อสั่งจ่าย ฉบับที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ลงชื่อสั่งจ่าย เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย และบัญชีปิดแล้ว ตามลำดับ จำเลยที่ ๒ ไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันได้หรือไม่ เห็นว่า ป.วิ.พ. มาตรา ๕๙ บัญญัติว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี…” คำว่า ผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี หมายความว่า มีส่วนได้เสียร่วมกันในมูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีนั้นโดยถือหนี้อันเป็นมูลของคดีนั้นเป็นสาระสำคัญ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้สินค้าตามสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น มูลเหตุอันเป็นรากฐานแห่งคดีคือหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อได้ความว่าจำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันได้
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.