คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เข้าดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ซึ่งตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อคดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะทำการก่อสร้างในที่พิพาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิก่อสร้างอาคารในที่พิพาทในนามของตนเองต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ น. จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่พิพาทโดยมิชอบ ขอให้ศาลบังคับมิให้จำเลยทำการก่อสร้างและเกี่ยวข้องในที่พิพาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า ผู้รับมอบอำนาจจาก น. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเป็นผู้เช่าสร้างตึกแถวและอาคารพาณิชย์ในที่พิพาท ต่อมาเมื่อ น. ถึงแก่กรรม โจทก์พยายามหาวิธีเลิกสัญญากับจำเลย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้รับมอบอำนาจจาก น. ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต สัญญาไม่ผูกพัน น. และกองมรดก พิพากษาห้ามมิให้จำเลยเข้าไปทำการก่อสร้างในที่พิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไม่รับ เพราะผู้ลงชื่อในอุทธรณ์ไม่มีอำนาจ

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ก็ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิก่อสร้างในที่พิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับผู้รับมอบอำนาจจาก น. หลังจากที่ น. ถอนการมอบอำนาจแล้วจึงไม่มีผลผูกพัน น. และกองมรดกจำเลยจึงอ้างสิทธิตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ยุติแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา ให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2 แล้ววินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ปรากฏว่าคู่สัญญาเช่าสร้างอาคารในที่พิพาท คือผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทน ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงมิได้มีความผูกพันเป็นส่วนตัวเนื่องแต่สัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด การเข้าดำเนินการก่อสร้างในที่พิพาทจึงเป็นการอาศัยสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 เมื่อคดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะทำการก่อสร้างในที่พิพาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิก่อสร้างอาคารในที่พิพาทในนามของตนเองต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

พิพากษายืน

Share