คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4773/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญา แล้วถูกศาลชั้นต้นสั่งขายทอดตลาดไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำมาคืนให้โจทก์ได้ จึงยอมใช้เป็นค่าที่ดินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินใช้ให้โจทก์จึงทำสัญญากู้ให้ไว้โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ค่าที่ดินมาเป็นหนี้สัญญากู้เงินโดยมีจำเลยที่ 2 เป็น ผู้ทำสัญญาค้ำประกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันแล้วผิดนัด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 25,400 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินและรับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์ที่มีสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 เอาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักประกันตัวจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยดังกล่าวหลบหนีไป ศาลชั้นต้นสั่งปรับนายประกัน นายประกันไม่ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นจึงสั่งยึดทรัพย์หลักประกันแล้วทำการขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 จึงคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ไม่ได้ โจทก์ให้จำเลยที่ 1เขียนสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ยึดถือไว้โดยมิได้มอบเงินตามสัญญากู้ให้จำเลยที่ 1 สัญญากู้จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ที่จำเลยชำระเงิน 5,000 บาทให้โจทก์ไปนั้นเป็นหน้าที่โดยศีลธรรมของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 25,400 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่าจำเลยที่ 1 ได้ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ในการทำสัญญาประกันตัวร้อยตำรวจโทนรากร สุขสำรวล จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1396/2523 ของศาลชั้นต้น ต่อมาร้อยตำรวจโทนรากรหลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งปรับนายประกันและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงตกลงยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 30,000 บาท โดยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้จำนวนดังกล่าวไว้ต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว 5,000 บาท คงค้างชำระอีก 25,000 บาทจำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันตามฟ้องไม่มีผลบังคับ เพราะโจทก์มิได้ส่งมอบเงินจำนวนตามสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวบุคคลอื่น จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาท ให้โจทก์โดยมรรยาทจรรยาที่โจทก์มอบหลักทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 ไปเป็นหลักประกันตัวบุคคลอื่นแล้วที่ดินดังกล่าวของโจทก์ถูกขายทอดตลาดไป ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองมีมูลหนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ดินของโจทก์ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวจำเลยอื่นในคดีอาญาแล้วถูกศาลชั้นต้นสั่งขายทอดตลาดไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำมาคืนให้โจทก์ได้จึงยอมใช้เงินเป็นค่าที่ดินให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 แต่จำเลยที่ 1ไม่มีเงินใช้ให้โจทก์ จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้โดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันด้วย กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่า เป็นการตกลงแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ค่าที่ดินมาเป็นหนี้สัญญากู้เงิน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ฉะนั้นจำเลยทั้งสองต้องผูกพันรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันนั้นต่อโจทก์ จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ทั้งนี้โดยผลของการแปลงหนี้นั่นเอง เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญากุ้และสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้องได้…”
พิพากษายืน.

Share