คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากไม่อยู่ในขอบอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่ง โดยผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันทั่วไปแล้ว ยังต้องห้ามความประพฤติและการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามแสดงกริยามารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้าย หรือ พยายามทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาซึ่งมีบทลงโทษไว้ ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด จนถึงเลิกสัญญาจ้าง การลาหยุดงานต้องระบุเหตุผลอันสมควร ในส่วนของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งเป็นลักษณะของค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 ดังนั้นการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จึงชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (1) และมาตรา 23 แล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2545 และคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าตามคำวินิจฉัยที่ 3/2545 ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 11/2545 ฉบับลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545
จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเก้าเพียงประการเดียวว่า ผู้รับจ้างขนส่งในคดีนี้เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ และกรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งเก้าตามฟ้องหรือไม่ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 นิยามคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทน ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน” และนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง” อันมีลักษณะทำนองเดียวกับความหมายของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” กล่าวคือลูกจ้างตกลงทำงานโดยสมัครใจให้แก่นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างเป็นการแลกเปลี่ยนกับแรงงานของลูกจ้างนั้น แต่การจะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 แล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 อีกด้วยตามข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าในการทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องเริ่มจากการเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับโจทก์ก่อน แล้วจึงจะทดสอบการขับรถจากนั้นจึงทำสัญญาขนส่งน้ำมันซึ่งตามสัญญาขนส่งน้ำมัน แม้จะเรียกคู่สัญญาว่า “ผู้ว่าจ้าง” กับ “ผู้รับจ้าง” แต่ตามสัญญาข้อ 1.2 ระบุว่า “ผู้รับจ้างยินยอมจะปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้” และตามข้อ 3.4 ก็ระบุไว้ทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้แล้วและที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมหลังจากการทำสัญญา และเมื่อโจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันทั้งยังคัดลอกข้อความบางส่วนมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาจึงเป็นกรณีที่โจทก์นำระเบียบปฏิบัติของส่วนคลังและขนส่ง บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่งในลักษณะเดียวกันเป็นระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันนอกจากจะระบุถึงระเบียบปฏิบัติภายในพื้นที่ศูนย์จ่ายน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันโดยทั่วไปแล้ว ยังระบุถึงความประพฤติส่วนตัวที่ต้องห้ามแสดงกริยามารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายหรือพยายามทำร้ายผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุบทลงโทษไว้ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด และยังปรากฏว่าโจทก์เคยมีประกาศบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่งซึ่งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บริการจัดส่งตั้งแต่งดจ่ายงาน 3 วัน จนถึงเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้นการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ยังคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป ส่วนที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้ง หากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานวันใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบ ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมัน ข้อ 5.3 วรรคสอง ซึ่งระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องประกันผลงานจำนวนเที่ยววิ่งขนส่งน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว หากผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจำนวนเที่ยวที่ระบุไว้โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา อีกทั้งโจทก์ยังได้จัดทำสมุดแจ้งการหยุดงานเพื่อบันทึกการลาหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่ง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของชื่อผู้หยุดงาน วันที่หยุดงาน ทะเบียนรถ รายละเอียดของการลาหยุดงาน ดังนั้นแม้ว่าผู้รับจ้างขนส่งจะหยุดงานวันใดก็ได้ แต่จะต้องขนส่งน้ำมันได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 45 เที่ยว และในการทำงานแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา จะทำงานในเวลาอื่นมิได้ การจะขนส่งน้ำมันให้ได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 45 เที่ยว จึงต้องมาทำงานภายในเวลาโดยมีอัตราการทำงานที่สม่ำเสมอ และยังต้องระบุเหตุผลในการลาหยุดอันสมควรด้วย เพื่อมิให้ขัดต่อสัญญาขนส่งน้ำมัน ข้อ 5.3 วรรคสอง ดังกล่าว การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงถูกบังคับโดยจำนวนเที่ยวที่ขนส่งโดยสัมพันธ์กับเวลาปฏิบัติงาน มิใช่การปฏิบัติงานโดยอิสระแต่อย่างใด ในส่วนของค่าจ้างที่ขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งก็เป็นลักษณะของค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 ดังนั้นการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาในการทำงานของโจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าผู้รับจ้างขนส่งไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545 เรื่องบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากไม่อยู่ในขอบอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดังนั้นเมื่อโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่ง การวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ครั้งที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ 11/2545 เรื่องบริษัทบางจากกรีนไลน์ จำกัด อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จึงชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (1) และมาตรา 23 แล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนแต่อย่างใด อุทธรณ์จำเลยทั้งเก้าฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share