คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2855/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรมิได้นิยามคำว่า “ทรัพย์สิน” ไว้ คำว่าทรัพย์สินตามประมวลรัษฎากรจึงต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 99
การที่โจทก์ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุกนั้น ทำให้โจทก์มีสิทธิ์ทำเหมืองหรือขุดหาแร่ดีบุกในที่ดินตามประทานบัตรดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประทานบัตรนั้น สิทธิ์ดังกล่าวตามประทานบัตรของโจทก์จึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง และโจทก์สามารถให้เช่าได้
การที่โจทก์ให้ ฟ. ผลิตแร่ดีบุกในที่ดินตามประทานบัตรของโจทก์มีกำหนด 3 ปี เป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงให้ ฟ. ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากประทานบัตรอันเป็นทรัพย์สินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และการที่ ฟ. ตกลงแบ่งแร่ดีบุกที่ผลิตได้แต่ละเดือนให้โจทก์ ถือว่า ฟ. ตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับ ฟ. จึงเป็นการเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หรือไม่
เมื่อ ฟ. แบ่งแร่ดีบุกให้โจทก์ตามที่ตกลงกันและโจทก์ขายแร่ดีบุกดังกล่าวไป เงินที่ได้จากการขายแร่ดีบุกดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(5) (ก) คือเงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 5(1) (จ) ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 10 มิใช่เป็นเงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 90 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(32)
(วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกแต่ไม่ได้เปิดเหมืองทำการผลิตแร่ด้วยตนเอง ได้ให้บริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด รับช่วงผลิตอีกต่อหนึ่ง โดยบริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด สมนาคุณเป็นอัตราส่วนร้อยละของจำนวนแร่ที่ผลิตได้ในเดือนหนึ่ง ๆ ให้แก่โจทก์ ในปี ๒๕๑๑ บริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด แบ่งแร่ดีบุกให้โจทก์ โจทก์ขายได้เงิน ๒๘๖, ๒๔๑ บาท ๘๒ สตางค์ ก่อนหักรายจ่าย
โจทก์ยื่น ภ.ง.ด.๑ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ๒๕๑๑ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๙๐ ตามมาตรา ๘(๓๒) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๐๒ และโจทก์ได้ชำระค่าภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๒ สรรพากรจังหวัดราชบุรีแจ้งแก่โจทก์ว่า การให้เช่าเหมืองแร่เป็นการให้เช่าทรัพย์สิน หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้เพียงร้อยละ ๑๐ จำเลยที่ ๑ ยืนยันตามความเห็นจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ สั่งให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มภาษี โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีอากร จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ สั่งยกอุทธรณ์โจทก์ สั่งให้โจทก์เสียตามจำนวนที่จำเลยที่ ๒ สั่ง โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงฟ้องขอให้สั่งเพิกถอนเสีย
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งแร่และขายได้เงินมานั้น เป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ต้องคิดหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๑๐ ไม่ใช่ร้อยละ ๙๐ ความเห็นและคำสั่งของจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า แร่ที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าเช่า เงินที่โจทก์ขายแร่ได้เป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน คำสั่งของจำเลยที่ ๒ และคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๗ บัญญัติว่า “อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น” ประมวลรัษฎากรมิได้นิยามคำว่า “ทรัพย์สิน” ไว้ คำว่าทรัพย์สินตามประมวลรัษฎากรจึงต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙ ที่บัญญัติว่า “ทรัพย์สินนั้น ท่านหมายความรวมทั้งทรัพย์ทั้งวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาได้และถือเอาได้” การที่โจทก์ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ตามประทานบัตรที่ ๙๐๖๕/๘๑๒๓ นั้น ทำให้โจทก์มีสิทธิ์ทำเหมืองหรือขุดหาแร่ดีบุกในที่ดินตามประทานบัตรดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประทานบัตรนั้น สิทธิ์ดังกล่าวตามประทานบัตรของโจทก์จึงเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งและโจทก์สามารถให้เช่าได้ การที่โจทก์ตกลงให้บริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด ผลิตแร่ดีบุกในที่ดินตามประทานบัตรของโจทก์มีกำหนด ๓ ปี เป็นสัญญาที่โจทก์ตกลงให้บริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากประทานบัตรอันเป็นทรัพย์สินชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และการที่บริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด ตกลงแบ่งแร่ดีบุกที่ผลิตได้แต่ละเดือนให้โจทก์ ถือว่าบริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด ตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์กับบริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด จึงเป็นการเช่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๗ โดยไม่คำนึงว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ หรือไม่ เมื่อบริษัทฟาร์อิสต์ไมนิ่ง จำกัด แบ่งแร่ดีบุกให้โจทก์ตามที่ตกลงกัน และโจทก์ขายแร่ดีบุกดังกล่าวไปแล้ว เงินที่โจทก์ได้จากการขายแร่ดีบุกดังกล่าวจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๕) (ก) คือเงินที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕(๑) (จ) ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๑๐ มิใช่เป็นเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (๑) ถึง (๗) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๘) ซึ่งให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ ๙๐ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๘(๓๒)
พิพากษายืน.

Share