แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นสามีของผู้ตาย ไม่ปรากฏว่ามีพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นโจทก์จึงเป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและมีหน้าที่ต้องจัดการทำศพผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าปลงศพภริยาโจทก์ได้ แม้บิดาโจทก์จะได้ออกเงินให้โจทก์ใช้จ่ายในการทำศพ จำเลยก็จะมายกเป็นข้อปัดป้องความรับผิดของจำเลยหาไม่ได้
ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานและอธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่มารดาสามี และบุตร เป็นการจ่ายเงินเพื่อการคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด โจทก์ซึ่งเป็นสามีของลูกจ้างผู้ตาย ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเรื่องละเมิดได้
ในตอนต้นของคำฟ้องโจทก์มีชื่อโจทก์เพียงผู้เดียว แต่โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง จ. และปรากฏในคำฟ้องว่าโจทก์กับนาง ส. ผู้ตายมีบุตรด้วยกันคือ เด็กหญิง จ. ทั้งโจทก์เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้เป็นจำนวนเงินชัดเจน ถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ด้วยแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีนางสุนีย์ กาญจนพบู มีบุตรด้วยกัน๑ คน คือ เด็กหญิงจุไรรัตน์ จำเลยที่ ๑ มีวัตถุประสงค์รับส่งคนโดยสารประเภทรถทัวร์ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์และนำมาร่วมวิ่งในเส้นทางของจำเลยที่ ๑ ในนามของจำเลยที่ ๑ โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ จำเลยที่ ๔ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๓ นางสุนีย์ กาญจนพบู เป็นพนักงานต้อนรับประจำรถของจำเลยที่ ๑ รถยนต์โดยสารของจำเลยที่ ๑ แล่นออกจากกรุงเทพไปตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปตามจังหวัดภาคใต้เมื่อถึงตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ ๓ ทั้งนี้ด้วยความประมาทของคนขับรถจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นเหตุให้นางสุนีย์ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องเสียค่าปลงศพ และเด็กหญิงจุไรรัตน์ขาดไร้อุปการะ ขอให้จำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวน ๒๕๓,๗๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สาเหตุที่รถยนต์ชนกันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของคนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ค่าปลงศพไม่เกิน๑๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดไร้อุปการะไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ ๑ จ่ายค่าทดแทนตามกฎหมายแรงงานให้โจทก์และเด็กหญิงจุไรรัตน์ พร้อมทั้งจ่ายค่าทำศพ นางสุนีย์ แล้ว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๘๑,๗๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นสามีของนางสุนีย์ไม่ปรากฏว่านางสุนีย์มีพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมของนางสุนีย์เป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและมีหน้าที่ต้องจัดการทำศพ นางสุนีย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๙ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าปลงศพภริยาโจทก์ได้ แม้นายทวีบิดาโจทก์จะได้ออกเงินให้โจทก์ใช้จ่ายในการทำศพก็ตาม จำเลยก็จะยกมาเป็นข้อปัดป้องความรับผิดของจำเลยหาได้ไม่ส่วนที่จำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่าจำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ไปตามคำสั่งของกรมแรงงานที่ ๒๓/๒๕๒๔ ไปบางส่วนแล้วจึงไม่ต้องรับผิดนั้น พิเคราะห์เอกสารหมาย จ.๖ คือ คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๒๓/๒๕๒๔ แล้ว มีข้อความว่าอธิบดีกรมแรงงานพิจารณาแล้ว เห็นว่า นางสุนีย์เป็นลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จึงให้บริษัท (จำเลยที่ ๑)จ่ายค่าทดแทนแก่นางเลี่ยม พรหมวิสัย (มารดา) สิบตำรวจเอกธีรศักดิ์กาญจนพบู (สามี) และเด็กหญิงจุไรรัตน์ กาญจนพบู (บุตร) เป็นเงินเดือน ๆ ละ ๑,๕๐๐ บาท มีกำหนด ๑๐ ปี และค่าทำศพ ๕,๐๐๐ บาทแล้วเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินเพื่อการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเรื่องละเมิดอยู่
สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าฟ้องแทนเด็กหญิงจุไรรัตน์ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินส่วนนี้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงจุไรรัตน์ซึ่งเป็นบุตร ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดเจนว่า โจทก์กับนางสุนีย์ผู้ตายมีบุตรด้วยกันคือ เด็กหญิงจุไรรัตน์ ทั้งโจทก์ได้เรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้เป็นจำนวนเงินชัดเจน ถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ด้วย จึงมีสิทธิเรียกเงินส่วนนี้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถาแทนโจทก์ โดยให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ และให้จำเลยให้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ฎีกา รวม ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์