แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามฟ้องอ้างว่ามีการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทางสาธารณะ ซึ่งผู้ฟ้องคดีและประชาชนใช้สัญจรเป็นทางเข้าออก ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและประชาชนในการใช้ประโยชน์ทางเข้า – ออก ที่ดินพิพาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ส่วนคำขอที่ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเท่านั้น ซึ่งประเด็นหลักที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือ สถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ อาจได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกโฉนดที่ดินพิพาทประการอื่น นอกจากการทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๘/๒๕๕๙
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองระยอง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองระยองโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ นายเจริญ เมตตา ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๓ คน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาแกลง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๙/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยใช้เรือประมงขนาดเล็กจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งและเพาะเลี้ยงหอยนางรมตามแนวชายคลองลาวนต่อเนื่องกันมากว่า ๔๐ – ๕๐ ปี โดยมีทางที่ใช้สัญจรขึ้น – ลง ระหว่างคลองลาวนกับแผ่นดิน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ มีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้ทำประตูเหล็กเลื่อนปิดกั้นทางสัญจรและทำรั้วลวดหนามกั้นบริเวณที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและชาวบ้านใช้เดินทางเข้า – ออก สู่คลองลาวนอันเป็นอุปสรรคกีดขวางต่อการเดินทางเข้า – ออก ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามเห็นว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทางสาธารณะและคลองลาวนซึ่งเป็นลำคลองสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน จึงได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ ดังกล่าวที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามทราบว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๘ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ด้านทิศตะวันออกได้ออกทับคลองสาธารณะบริเวณปากคลองลาวนเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งานเศษ เช่นเดียวกันกับโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาศาลมีคำสั่งเรียก นายสมชาย วชิรสกุลชัย ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ รวมทั้งนายธนวัชร วชิรสกุลชัย และนายนาวี เพชรธำรงชัย ซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๘ เข้ามาในคดีและกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาแกลง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นายสมชาย วชิรสกุลชัย นายธนวัชร วชิรสกุลชัย และนายนาวี เพชรธำรงชัย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ตามลำดับ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ในการรังวัดออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ ผู้แทนนายอำเภอแกลงได้ร่วมตรวจสอบที่ดินและลงชื่อรับรองแนวเขตคลองสาธารณประโยชน์และทะเล จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยชอบตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมาย โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๘ มีการขอรังวัดหักเป็นที่สาธารณประโยชน์คลองลาวน จำนวนเนื้อที่ ๓ ไร่ – งาน ๖๖.๓ ตารางวา คงเหลือเนื้อที่ตามโฉนด ๑ ไร่ ๑ งาน ๙๔.๔ ตารางวา โดยมีผู้แทนนายอำเภอและผู้แทนหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๖ สาขาระยอง มาระวังชี้แนวเขตและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตว่ามิได้รุกล้ำคลองสาธารณประโยชน์และทะเล
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซื้อที่ดินมาจากผู้มีชื่อ โดยได้ตรวจสอบถึงความเป็นมาของการออกโฉนดและสภาพที่ดินแล้วเห็นว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่มีการรุกล้ำทางหรือคลองสาธารณะแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๘ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกให้แก่นายโกศล เกษมศานต์ และภายหลังได้มีการโอนต่อมายังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ นั้น ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกทับคลองและทางสาธารณประโยชน์ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและชาวบ้านใช้ในการสัญจรเพื่อประกอบอาชีพด้านการประมงซึ่งภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำประตูเหล็กเลื่อนมาปิดกั้นทางที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและชาวบ้านใช้ในการสัญจรและทำรั้วลวดหนามมากั้นบริเวณที่จะใช้เดินทางเพื่อเป็นอุปสรรคกีดขวางต่อการเดินทางเข้า – ออก ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ไม่สามารถสัญจรในทางสาธารณะที่เคยใช้สัญจรมานาน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ ในส่วนที่รุกล้ำทางสาธารณะและคลองลาวน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ แม้มิได้เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีเนื่องจากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวในส่วนที่รุกล้ำคลองและทางสาธารณประโยชน์ดังที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามกล่าวอ้าง ผลของคำพิพากษาจะกระทบต่อสิทธิของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ด้วย ดังนั้นศาลจึงได้เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๗๘ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ประกอบกับมาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง (๓) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ ตำบลชากพง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้แก่นายโกศล เกษมศานต์ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกโฉนดที่ดินทับคลองและทางสาธารณะประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและชาวบ้านใช้ในการสัญจรเพื่อประกอบอาชีพด้านการประมง ซึ่งภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ทำประตูเหล็กเลื่อนมาปิดกั้นทางที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและชาวบ้านใช้ในการสัญจร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองโฉนดข้างต้น เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การออกโฉนดที่ดินที่พิพาทเป็นการออกทับคลองและทางสาธารณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายโกศลโดยชอบมาแต่เดิม แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาแกลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และเลขที่ ๒๖๓๘ ในส่วนที่ออกทับที่สาธารณประโยชน์ (คลองลาวน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้การสรุปได้ว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และ เลขที่ ๒๖๓๘ มีการรังวัดและร่วมกันตรวจสอบรับรองแนวเขตถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย มิได้รุกล้ำทางหรือคลองสาธารณะแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เจตนารมณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามที่นำคดีมาฟ้องก็เพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามและประชาชนในการใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินพิพาทเป็นทางเข้า – ออก ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามอ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ (คลองลาวน) ส่วนคำขอที่ให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท เป็นเพียงผลต่อเนื่องในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นหลักที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือ สถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ อาจได้กรรมสิทธิ์มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๖๓๗ และ เลขที่ ๒๖๓๘ ประการอื่น นอกจากการทับซ้อนกับที่สาธารณประโยชน์ (คลองลาวน) จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเจริญ เมตตา ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๓ คน ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยอง สาขาแกลง ที่ ๑ นายสมชาย วชิรสกุลชัย ที่ ๒ นายธนวัชร วชิรสกุลชัย ที่ ๓ นายนาวี เพชรธำรงชัย ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ