แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแต่โทษจำคุกรอการลงโทษโจทก์ร่วมฝ่ายเดียวอุทธรณ์ไม่ให้รอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันและโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหาย ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้าน เพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันทำร้ายร่างกายนายลิขิตอภิวัฒนกุล ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5ทำร้ายนายโกมินทร์ อภิวัฒนกุล แต่ไม่เกิดอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 295, 391 จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มีความผิดตามมาตรา83, 295 จำคุกคนละ 1 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 ให้ยกฟ้อง และข้อหาอื่นให้ยกฟ้องโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าไม่ปรับและไม่รอการลงโทษให้จำเลยทั้งห้า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำผิดก็ดีโจทก์ร่วมได้มีส่วนก่อชนวนและทะเลาะวิวาทจึงมิใช่ผู้เสียหายก็ดีและว่าการที่จำเลยที่ 2 ต้องเกิดการชกต่อยกับโจทก์ร่วมเนื่องจากโจทก์ร่วมได้เดินเข้ามาหาจำเลยที่ 2 ชกเพื่อนของจำเลยที่ 2 และจะหันมาชกจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องป้องกันตัวก็ดีล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยดังกล่าวมิได้อุทธรณ์คัดค้านอย่างใด เพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ แม้จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา ก็ไม่อาจทำให้ศาลฎีการับวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อเหล่านี้…ฯลฯ…”
พิพากษายืน