คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13592/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี… หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมาย และข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ดังนี้ ความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวสองในสามของโทษปรับที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 67, 97, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 23, 62, 64, 65 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 24,27 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5,6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 92 ริบเฮโรอีนและเงินตรา 3,656,000 บาท ของกลาง เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมจำนวนร้อยละยี่สิบของราคาของกลางหรือค่าปรับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 (ที่ถูก 65 วรรคหนึ่ง),67, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 23, 64 (ที่ถูก 64 วรรคหนึ่ง), 65 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 4, 8, 8 ทวิ (ควรระบุ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489มาตรา 4, 5, 6, 8, 9 ด้วย) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 700,000บาท ฐานช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม จำคุก 6 เดือน ฐานพยายามนำพาหนะออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าเสียภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากร โดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักรและฐานพยายามส่งหรือนำเงินตราสกุลไทยออกไปนอกประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 14,624,000 บาท รวมจำคุก 33 ปี18 เดือน และปรับ 15,324,000 บาท ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 12 เดือน และปรับ 10,216,000 บาทหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเฮโรอีนและเงินตราของกลางจ่ายรางวัลนำจับตามกฎหมาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 666,666.66 บาท ฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร ให้ปรับ 9,749,333.33 บาท เมื่อลดโทษหนึ่งในสาม คงปรับรวม 6,943,999.99 บาท รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุก 22 ปี 12 เดือน และปรับ 6,943,999.99 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยฎีกาในความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร และฐานพยายามส่งหรือนำเงินตราสกุลไทยออกไปนอกประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้ามหรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น เห็นว่า ความผิดสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวกันเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร ก็ต้องสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งหรือนำเงินตราสกุลไทยออกไปนอกประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวโดยไม่จำ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนั้นอีก คดีนี้ศาลอุทธรณ์ แก้เฉพาะอัตราโทษปรับในความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของ ต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักรอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษปรับจำเลย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกำลังเดินทางออกนอกประเทศ การกระทำของจำเลยยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการเท่านั้น และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย คงมีเพียงคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเท่านั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร สองในสามของโทษปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี หรือส่งหรือพาของเช่นว่านี้ออกไปนอกพระราชอาณาจักรก็ดี หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ ในการนำของเช่นว่านี้เข้ามาหรือส่งออกไปก็ดี หรือย้ายถอนไป หรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนไปซึ่งของดังกล่าวนั้นจากเรือกำปั่น ท่าเทียบเรือ โรงเก็บสินค้า คลังสินค้า ที่มั่นคง หรือโรงเก็บของโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี หรือให้ที่อาศัยเก็บ หรือเก็บ หรือซ่อนของเช่นว่านี้ หรือยอม หรือจัดให้ผู้อื่นทำการเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการขนหรือย้ายถอน หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่งของออก ขนของขึ้น เก็บของในคลังสินค้า และการส่งมอบของโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ก็ดี หรือหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ” ดังนี้ ความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากันที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวสองในสามของโทษปรับที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพยายามนำหรือพาของที่ยังไม่เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกนอกราชอาณาจักร ปรับ 14,624,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงปรับ 9,749,333.33 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นจำคุก 22 ปี 12 เดือน และปรับ 10,193,777.77 บาท และยกฎีกาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share