แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและใบรับงานเช่า แต่ ข. คนขับรถเครนคันเกิดเหตุเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วน ก. พนักงานบริษัท ท. เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่ตั้งเครื่องจักร ก. ไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวมีลักษณะสำคัญเป็นการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัท ท. ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จและผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครน สัญญาระหว่างบริษัท ท. กับจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 จำเลยรวมทั้งพนักงานของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถบริษัทจำเลย จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ฮ. ผู้ซื้อเครื่องจักร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,173,087 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,170,857 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,170,857 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 เมษายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ณ ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการประกันภัยและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โจทก์มอบอำนาจให้นายโทชินาริ ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ดำเนินคดีนี้ จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิต ประกอบ ซ่อม ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า รถเครน รถยก รถเทรลเลอร์ ฯลฯ โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าเครื่องจักรตามฟ้องของบริษัทเมนเดนชา คอร์ปอเรชั่น ผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นซึ่งบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด เป็นตัวแทนผู้สั่งซื้อและติดตั้งเครื่องจักรให้แก่บริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้ซื้อในประเทศไทย โดยโจทก์รับประกันภัยในภัยพิบัติทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่เครื่องจักรซึ่งบริษัทเมเดนชา คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้เอาประกันภัยในวงเงินคุ้มครองความเสียหาย 110,550,000 เยน และมีบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ต่อมาเครื่องจักรซึ่งบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ถูกขนส่งจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาถึงท่าเรือกรุงเทพในสภาพเรียบร้อย หลังจากนั้นบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ซึ่งมีหน้าที่ติดตั้งเครื่องจักรได้ติดต่อขอเช่าและจำเลยตกลงให้เช่ารถเครนปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่คันเกิดเหตุไปดำเนินการยกเครื่องจักรเพื่อติดตั้ง ณ โรงงานของบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ครั้นเครื่องจักรได้ถูกขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงงานของบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด เพื่อติดตั้ง นายขรรชัย พนักงานขับรถเครนของจำเลยได้ใช้ปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุยกเครื่องจักรลงจากรถบรรทุกเพื่อจะวางตามจุดที่นายเกรียงไกร พนักงานของบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด เป็นผู้กำหนด แต่ขณะที่ปั้นจั่นกำลังยกเครื่องจักรซึ่งมีน้ำหนัก 10,700 กิโลกรัม ขึ้นสูงประมาณ 1.5 เมตร เครื่องจักรได้รูดตกลงไปกระแทกกับพื้นได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ให้บริษัทนิปปอนไดจิ เคนเตอิ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำการสำรวจความเสียหายรวมทั้งส่งกลับไปตรวจสอบ ซ่อมและทดลองการใช้งานที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่นแล้วส่งกลับมายังประเทศไทย ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 4,998,923 เยน และ 371,245.18 บาท หรือรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,170,857 บาท ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเครื่องจักรได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้รับประโยชน์ เป็นเงิน 2,170,857 บาท นอกจากนี้คดียังฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายไม่เคลือบคลุมและเหตุที่เครื่องจักรรูดรถตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย ไม่ใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยให้การต่อสู้ กับคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ในกรณีที่โจทก์ได้รับช่วงสิทธิ โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินค่าเสียหายจากจำเลยได้นับแต่วันฟ้องเท่านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เหตุที่เครื่องจักรตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นอุบัติเหตุซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิด โจทก์ผู้รับประกันภัยเครื่องจักร จึงไม่อาจได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า แม้คู่ความจะรับกันว่า สัญญาระหว่างบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด กับจำเลย ซึ่งบริษัทจำเลยได้เข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเป็นการเช่าทรัพย์ตามข้อความที่ระบุในสำเนาหนังสือขอเสนอราคาค่าเช่าและสำเนาใบรับงานเช่าก็ตาม แต่นายขรรชัยคนขับรถเครนคันเกิดเหตุก็เป็นพนักงานของจำเลย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมปั้นจั่นรถเครนในการยกเครื่องจักรขึ้นลงตามความชำนาญงานของตน ส่วนนายเกรียงไกร พนักงานผู้ควบคุมงานของบริษัทไทย เมนเดนชา จำกัด น่าเชื่อว่า เป็นเพียงผู้กำหนดจุดที่จะวางตั้งเครื่องจักรเท่านั้น นายเกรียงไกรไม่มีอำนาจกำหนดวิธีการใช้อุปกรณ์หรือปั้นจั่นของรถเครน ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายขรรชัยพนักงานขับรถเครนของจำเลย ดังนี้ การงานที่ทำดังกล่าวจึงมีลักษณะสำคัญเป็นการทำการงานที่จำเลยตกลงรับทำให้บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเครื่องมือคือรถเครนคันเกิดเหตุสำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 588 สัญญาระหว่างบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด กับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 เพราะมุ่งเน้นเอาผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นสำคัญ หาใช่เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537 ตามที่คู่ความเข้าใจไม่ ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเครื่องมือชนิดดีและไม่มีความชำรุดบกพร่องไปปฏิบัติงานที่รับจ้างทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า ปั้นจั่นรถเครนซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเลยนำไปใช้ทำการงานที่รับจ้างมีความชำรุดบกพร่อง เพราะจำเลยรวมทั้งพนักงานขับรถของจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบปั้นจั่นรถเครนคันเกิดเหตุให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนนำไปใช้ทำการงานที่ตนรับจ้าง เป็นเหตุให้เครื่องจักรรูดตกลงไปกระแทกพื้นได้รับความเสียหาย เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยและพนักงานขับรถของจำเลย จึงเป็นการทำละเมิดต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องจักร จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้ซื้อเครื่องจักรซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ส่วนข้อตกลงท้ายใบรับงานเช่าที่ยกเว้นความรับผิดของจำเลย นั้น ไม่ปรากฏว่า บริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ได้มอบอำนาจให้บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด เป็นตัวแทน ไปทำข้อตกลงกับจำเลยด้วย ดังนั้น ไม่ว่าข้อตกลงยกเว้นความรับผิดจะมีผลใช้บังคับแก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ได้หรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ผู้รับติดตั้งเครื่องจักรกับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากันเท่านั้น ข้อตกลงหาได้มีผลผูกพันไปถึงบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเครื่องจักรตามฟ้องได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเรียกร้องและรับเงินค่าเสียหายแทนบริษัทฮอนด้า คาร์ อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว ดังปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน/ใบสละ/ใบรับช่วงสิทธิ โจทก์ผู้รับประกันภัยในภัยพิบัติของเครื่องจักรย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง และศาลฎีกาเห็นสมควรกล่าวด้วยว่า แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายมาว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาท้ายข้อความตอนนี้ว่า บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจรับเงินแทนบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องมาในตอนแรกแล้วว่า หลังจากเครื่องจักรได้รับความเสียหาย บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ในฐานะตัวแทนของบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้ซื้อได้มีหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย ดังนั้น ที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในข้อนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์ฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลย จึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใด ก็ไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษานี้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ขณะที่จำเลยรับงานให้เช่ารถเครนคันเกิดเหตุเพื่อยกเครื่องจักรนั้น บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด ไม่มีผู้ใดลงชื่อรับทราบข้อตกลงยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ท้ายใบรับงานเช่า แม้นายเกรียงไกรพนักงานของบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด จะลงชื่อในใบรับงานเช่า แต่ก็เป็นเพียงลงชื่อในช่องผู้ควบคุมงานเท่านั้น ไม่ใช่ลงชื่อในฐานะคู่สัญญากับจำเลย ข้อตกลงการเช่าซึ่งระบุให้ยกเว้นความรับผิดของจำเลย จึงไม่มีผลผูกพันบริษัทไทย เมเดนชา จำกัด จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นและเมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทย เมเดนชา จำกัด แล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้และพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,170,857 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องมานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ