แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันแต่ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปหลายครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถึงแม้จำเลยทั้งสองได้หยุดเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์มาแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ตลอดไป หาได้ระงับไปเมื่อวันสัญญาครบกำหนดหรือวันที่จำเลยทั้งสองเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายไม่โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ถือว่าสัญญาเลิกกัน โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2536 แม้โจทก์เพิ่มจะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ก็ต้องถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองระงับไปตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856,859 หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปอีกไม่ได้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถือว่ามีการผิดนัดก็ต่อเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันโจทก์ได้หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวส่งไปให้จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่20 ตุลาคม 2536 ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันถัดจากวันได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 26 ตุลาคม 2536ครบ 30 วันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 ดังนั้นช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536โจทก์ยังให้เวลาจำเลยทั้งสองหาเงินมาชำระหนี้อยู่ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด จำเลยทั้งสองจะผิดนัดก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ให้โอกาสคือตั้งแต่วันที่27 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป และเมื่อตามประกาศปรับปรุงอัตราดอกเบี้ย โจทก์จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีและร้อยละ 18 ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่ผิดนัดเท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ผิดนัด โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองในอัตรานี้ไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินตามสัญญากู้เพียง 2,447,837.24 บาทเท่านั้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ในส่วนสัญญากู้ฉบับนี้เป็นต้นเงิน 2,477,837.24 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 567,157.90 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 3,044,995.14 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 2,477,837.24 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ไขนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น แม้จะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน19,442,342.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 17,182,061.79 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532เพียงร้อยละ 14.5 ต่อปี ไม่ได้ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่านี้การคิดดอกเบี้ยตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้เพียงถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 เท่านั้นเพราะหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้เลิกสัญญากับโจทก์แล้ว ไม่มีการเคลื่อนไหวบัญชีอีกแต่อย่างใด และสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน2535 โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี เพราะเป็นอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคงคิดได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน6,044,995.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,477,877.24 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดที่ 15724, 1986 และ 8361 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองซึ่งจำนองเป็นประกันออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ ส่วนหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้องโจทก์ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องมาใหม่ภายในอายุความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 18,634,591.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 14,182,061.79 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 3,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกค้าของธนาคารโจทก์ สาขาสมุทรสงครามได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 7,000,000 บาทมีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปีคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร และยอมให้โจทก์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าที่กฎหมายหรือประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเพิ่มวงเงินเบิกบัญชีอีกจำนวน 3,000,000 บาทรวมเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชีทั้งสิ้นจำนวน 10,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เบิกเงินเกินบัญชีและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีกับโจทก์จนสัญญาครบกำหนด และได้ขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีกทั้งสองครั้ง ๆ ละ 12 เดือน สัญญาครบกำหนดในวันที่ 11 มกราคม2535 จำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีไปเมื่อวันที่29 ธันวาคม 2535 เป็นครั้งสุดท้ายหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้นำเงินเข้าฝากหักทอนบัญชีเรื่อยมา ต่อมาเดือนตุลาคม 2536 โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปให้จำเลยทั้งสองโดยคิดหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 แต่เพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม2536 แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับหนังสือทวงหนี้ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 26 ตุลาคม 2536
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองอันดับแรกก็คือ สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองระงับไปตั้งแต่เมื่อใดจำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน คือในวันที่ 12 มกราคม2535 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ต่ออายุสัญญาออกไปอีกเลย และได้มีการสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 ต่อมามีแต่นำเงินเข้าฝากเพื่อชำระหนี้เท่านั้น สัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงต้องระงับไปตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2535 หรือไม่ก็ต้องระงับไปตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2535 หลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาจากจำเลยทั้งสองไม่ได้ เห็นว่า เมื่อกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดในวันที่ 11 มกราคม2535 แล้ว โจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน และตามใบแจ้งยอดบัญชีกระแสรายวันเป็นต้นไป ปรากฏว่าเมื่อสัญญาครบกำหนดในวันที่ 11 มกราคม 2535 แล้วยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปหลายครั้ง จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ถึงแม้จำเลยทั้งสองได้หยุดเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2535เป็นต้นมาแล้วก็ตาม เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเพื่อหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ตลอดไปหาได้ระงับไปเมื่อวันสัญญาครบกำหนดหรือวันที่จำเลยทั้งสองเบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ถือว่าสัญญาเลิกกัน โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 แม้โจทก์เพิ่งจะมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ก็ต้องถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองระงับไปตั้งแต่วันที่ 28กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันหักทอนบัญชีกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856, 859 หลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปอีกไม่ได้
ปัญหาวินิจฉัยอันดับต่อไปก็คือโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 และร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 ได้หรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2535 และ 27 ตุลาคม 2536 ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 และร้อยละ 18 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเอาจากลูกหนี้ที่ผิดนัด แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถือว่ามีการผิดนัดชำระหนี้ก็ต่อเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกันเท่านั้นเมื่อยังไม่ได้หักทอนบัญชีกันจะถือว่าฝ่ายจำเลยทั้งสองผิดนัดหาได้ไม่ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 และร้อยละ 18 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปมาจึงไม่ชอบเห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดจะถือว่ามีการผิดนัดก็ต่อเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้โจทก์ได้หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวส่งไปให้จำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันได้รับหนังสือบอกกล่าว จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวในวันที่ 26 ตุลาคม 2536 ครบ 30 วันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ยังให้เวลาจำเลยทั้งสองหาเงินมาชำระหนี้อยู่ ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัด จำเลยทั้งสองจะผิดนัดก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ให้โอกาสคือตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไป ตามประกาศปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยเอกสารหมาย จ.37 และ จ.44 โจทก์จะคดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี และร้อยละ 18 ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่ผิดนัดเท่านั้นเมื่อจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ผิดนัด โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองในอัตรานี้ไม่ได้ แต่จำเลยทั้งสองมิใช่ลูกหนี้ชั้นดี โจทก์จึงต้องคิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสองในอัตราดอกเบี้ยที่คิดเอากับลูกค้าโดยทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ฉะนั้น เมื่อยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันในวันที่ 1 กันยายน 2535 มีอยู่จำนวน 11,897,949.97 บาท โจทก์จึงต้องคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2536 อัตราร้อยละ16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์2536 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีอย่างไม่ทบต้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2536 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2536 อัตราร้อยละ 15.50 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2536 และร้อยละ18 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้โจทก์ในส่วนสัญญากู้ ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532 เป็นต้นเงิน2,477,837,837.24 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 567,157.90 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 3,044,995.14 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 2,477,837.24 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขนั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ชำระต้นเงินตามสัญญากู้ฉบับนี้เพียง 2,447,837.24 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้นแม้จะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.8 จ.9 จำนวน 11,897,949.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2535 เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 มกราคม 2536 การคิดดอกเบี้ยให้คิดถึงสิ้นเดือนของแต่ละเดือนทบต้นได้เท่าไรแล้วเอาเงินที่จำเลยทั้งสองนำเข้าฝากแต่ละเดือนหักออก เหลือเท่าไรใช้เป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2536 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2536 นับแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2536 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 อัตราร้อยละ 16.5ต่อปีอย่างไม่ทบต้นในต้นเงินที่ค้างชำระเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์2536 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 26 กันยายน2536 อัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2536 และอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 27ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2532 เอกสารหมาย จ.15 และสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 เอกสารหมาย จ.20 ให้แก่โจทก์จำนวนรวม 6,014,995.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 2,447,837.24 บาท เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3