คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1176/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 3 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทและผู้ถือใบอนุญาตจัดหางาน ในนามบริษัท โจทก์ตกลงยินยอมที่จะลงนามในเอกสารหรือคำขอ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บรรลุการนั้นโดยทันทีตามที่จำเลย จะได้แจ้งให้ทราบก็ตาม แต่ข้อความตามบันทึกข้อดังกล่าว เป็นเพียงการตกลงกันล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์ จะเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการ โดยโจทก์ต้องยินยอมเท่านั้นมิได้หมายความว่าหากจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์ พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแล้วถือว่าจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทันทีนอกจากนี้ปรากฏว่าหลังจากจำเลยจดทะเบียนให้โจทก์ พ้นจากกรรมการผู้จัดการแล้วโจทก์ยังทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตลอดมา ดังนั้น ข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการ บอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2540โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายและจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540ถึงวันที่ 29 กันยายน 2540 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน30,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,333 บาทและค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 11,336 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติงานและบริหารงานในฐานะกรรมการบริษัท โดยโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ต่อมาเมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2540 จำเลยได้นำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไปยื่นขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2540 จำเลยถือว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่จำเลยทำตามเจตนารมณ์ของโจทก์ตามหนังสือบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้นโจทก์จึงสิ้นสภาพการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ในกิจการของจำเลยตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา เมื่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแล้วหลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยบอกโจทก์ว่า โจทก์ได้สิ้นสภาพการเป็นกรรมการในกิจการของจำเลยแล้ว ขอให้โจทก์นำต้นฉบับใบอนุญาตจัดหางานเพื่อให้คนงานไปทำงานในต่างประเทศที่ออกให้โดยกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นของจำเลยที่โจทก์นำติดตัวไปมาคืนให้แก่จำเลยด้วยแต่โจทก์ปฏิเสธที่จะคืนให้โดยอ้างว่า ใบอนุญาตจัดหางานดังกล่าวเป็นของโจทก์ถือว่าโจทก์รู้ว่าโจทก์สิ้นสภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้จำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยได้บอกให้โจทก์นำต้นฉบับใบอนุญาตจัดหางานมาคืนให้แก่จำเลย ซึ่งนับระยะเวลาได้ประมาณ 1 เดือนหลังจากโจทก์ได้รับเงินเดือนในเดือนสิงหาคม 2540 แล้วโจทก์ยังเข้าออกภายในสำนักงานของจำเลยเรื่อยมา ทั้งยังได้ใส่กุญแจประตูทางเข้าออกสำนักงานของจำเลยโดยไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้จำเลยแล้ว จำเลยจึงได้ทำหนังสือลงวันที่ 26 กันยายน 2540แจ้งให้โจทก์ออกจากสถานที่ภายในวันที่ 29 กันยายน 2540จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างของเดือนกันยายน 2540 ให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 30,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,333 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 11,336 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 3 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทและผู้ถือใบอนุญาตจัดหางานในนามบริษัท โจทก์ตกลงยินยอมที่จะลงนามในเอกสารหรือคำขอ คือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้บรรลุการนั้นโดยทันทีตามที่จำเลยจะได้แจ้งให้ทราบก็ตาม เห็นได้ว่าข้อความตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงการตกลงกันล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการผู้จัดการ โดยโจทก์ต้องยินยอมเท่านั้น ข้อตกลงดังกล่าวมิได้หมายความว่าหากจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแล้วถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีนอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า หลังจากจำเลยจดทะเบียนให้โจทก์พ้นจากกรรมการผู้จัดการแล้ว โจทก์ยังทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตลอดมา ดังนั้นข้อตกลงตามบันทึกดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายดังที่จำเลยอ้าง”
พิพากษายืน

Share