คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 ยกเลิกมาตรา 91 ให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า ให้ศาลลงโทษผู้กระทำ ความผิด ทุกกระทงความผิด แต่ต้องไม่เกิน 50 ปีสำหรับกรณี ความผิดกระทง ที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป เว้นแต่กรณี ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็น กฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำ ความผิดที่ แตกต่างกับกฎหมาย ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และเป็น คุณแก่ จำเลยทุกคน ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย เมื่อศาลล่างพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 51 ปี ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นให้ จำคุกคนละ 50 ปี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 6 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ข้อ 3, 7 จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 30 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 51 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนายอิมะแอประจักษ์พยานของโจทก์เบิกความว่า เมื่อนายเหมผู้ตายถูกยิงนัดแรกล้มลงไปแล้วปืนดังขึ้นอีก 1 นัด ต่อมาปืนดังขึ้นอีกประมาณ 10 นัด ขณะที่นายอิสมะแอแอบอยู่ข้างทางห่างจากนายเหมผู้ตายถูกยิงประมาณ 10 – 15วา เห็นจำเลยที่ 1 ซึ่งนายอิสมะแอรู้จักมาก่อนถืออาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวเดินนำหน้าออกมาจากข้างทาง โดยมีจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวกับจำเลยที่ 3 ถืออาวุธปืนลูกซองสั้นเดินตามออกมา แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ยิงนายเหมผู้ตายซ้ำอีกคนละ 1 นัด แล้วจึงพากันหนีไป ซึ่งนายอิสมะแอว่าจำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนจัดทำการชี้ตัวคนร้าย นายอิสมะแอก็ชี้ตัวจำเลยที่ 3 ได้ถูกต้อง นายนุ้ยก็เบิกความยืนยันว่าที่จำเลยที่ 2 ไปขอยืมอาวุธปืนลูกซองเดี่ยวยาวของตนนั้นจำเลยที่ 3 ก็ไปด้วยมูลเหตุที่จะไปยิงนายเหมนอกจากนายเหละบิดานายเหมผู้ตายจะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 โกรธนายเหมผู้ตายเพราะนายเหมผู้ตายแจ้งความว่าจำเลยที่ 1 ลักวัวของตนแล้ว ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ยังให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชวนจำเลยที่ 3 ไปยิงคน จำเลยที่ 3 ขัดไม่ได้ก็ไปด้วย และร่วมไปดักซุ่มยิงนายเหมผู้ตายทั้งในวันที่ 7 และ 8 กันยายน 2524 แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยิงเพราะพอยกปืนจะยิง ปืนดังมาจากผู้ตาย 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ข้อมือขวาของจำเลยที่ 3 จึงไม่ได้ยิง ซึ่งจำเลยที่ 3 มีบาดแผลที่แขนขวาจริงดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.18 ลักษณะบาดแผลของจำเลยที่ 3 สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวน ในชั้นศาลจำเลยที่ 3 ไม่ได้เบิกความถึงในเรื่องบาดแผลดังกล่าวเลยว่าเกิดจากเหตุใด เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวนตามความจริงเมื่อนำคำให้การในชั้นจับกุมสอบสวนมาพิจารณาประกอบคำของนายอิสมะแอนายนุ้ย ดังยกขึ้นกล่าวข้างต้น เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิดจริงดังฟ้อง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้

ขณะพิจารณาคดีนี้ปรากฏว่า มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งข้อความที่แก้ไขใหม่แล้วตามมาตรา 91(3) ความว่า ให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกระทงความผิด แต่ต้องไม่เกินกำหนดห้าสิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดที่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดและเป็นคุณต่อจำเลยในคดีนี้ทุกคน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย จึงกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 เสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติภายหลังอันเป็นคุณแก่จำเลย”

พิพากษาแก้เป็นว่า รวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 50 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share