คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2846/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ได้ความอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 73 แล้วจึงมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4) การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุนและไม่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลอันมีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองสามารถชำระหนี้โจทก์ได้จึงได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งมิได้นำบัญชีในการประกอบธุรกิจและงบดุลประจำปีในระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นฐานะของกิจการโดยถูกต้องตามจริง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 74 ว่าจำเลยทั้งสองขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 73(1) และ (3)ประกอบกับโจทก์คัดค้าน จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยทั้งสองจากล้มละลาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2534 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำการค้าในทางเสี่ยงโชคอันน่าจะขาดทุนหรือทำการค้าโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทั้งไม่ได้ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีทรัพย์สินใดพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ ขอให้มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากล้มละลาย

โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการปลดจากล้มละลายถึงกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียวที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 47,388,658.40 บาท ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงงานผลิตมันเม็ด จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เหตุที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกฟ้องล้มละลาย เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามและทำบัญชีส่วนแบ่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เพียงครั้งเดียว เมื่อหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแล้วเป็นเงิน 729,785.96 บาท คงเหลือหนี้ที่โจทก์ยังมิได้รับชำระอีก 46,568,912.44 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามได้อีก ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 71

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสมควรปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลายหรือไม่อย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงให้ได้ความอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวไว้ในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4) คดีนี้ ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 เมื่อนับถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2537 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องปลดจากล้มละลายเป็นเวลาเพียง 2 ปี 7 เดือนเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามและทำบัญชีส่วนแบ่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เพียงครั้งเดียวเป็นเงิน 729,785.96 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.54 ของหนี้ทั้งหมด โจทก์ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้อีก 46,568,912.44 บาท และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามได้อีก การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินเหลือไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกัน ไม่ใช่ผลธรรมดาอันเนื่องมาจากการค้าขายขาดทุนและไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เป็นเพราะความผิดพลาดในการบริหารงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มากกว่า อันควรจะตำหนิจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจต่อศาลได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเหตุผลที่ควรเชื่อได้ว่าตนสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ จึงได้ก่อหนี้ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งมิได้นำบัญชีในการประกอบธุรกิจและงบดุลประจำปีในระยะเวลา 3 ปี ก่อนล้มละลายมาแสดงต่อศาลเพื่อให้เห็นฐานะของกิจการโดยถูกต้องตามจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 74 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขืนกระทำการค้าขายต่อไปอีกโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดมาตรา 73(1) และ (3) ประกอบกับโจทก์คัดค้านการขอปลดจากล้มละลายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงนับว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ปลดจำเลยที่ 2 และที่ 3จากล้มละลายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับไม่ยอมปลดจากล้มละลายให้ยกคำร้องขอปลดจากล้มละลายของจำเลยที่ 2 และที่ 3

Share