คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินให้ ส. แล้วต่อมาได้แก้ไขสำเนาเป็นออกให้ อ. เป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของจำเลย และลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำและผู้แก้ไขเอกสารนั้น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ข้อความในต้นฉบับและสำเนาจะไม่ตรงกัน ก็เป็นแต่เพียงเอกสารเท็จ ไม่ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161,265

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,147, 157, 161, 264, 265, 268 และขอให้สั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,595 บาท แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 161, 265การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 1,595 บาท แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ก่อนเกิดเหตุเงินงบประมาณรวมทั้งเงินเดือนและเงินช่วยเหลือค่าครองชีพของสำนักงานสาธารณสุข ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหายไป 164,000 บาทเศษ จำเลยรับว่าเป็นผู้นำเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 ได้มาตรวจบัญชีของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน พบว่าเงินอีกจำนวนหนึ่งขาดหายไปแต่ไม่ทราบจำนวนแน่นอน เพราะจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวไว้และจำเลยไม่ได้มาทำงาน ไม่ทราบว่าจำเลยไปอยู่ที่ใด นายสมทรง รักษ์เผ่า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้ตั้งกรรมการตรวจค้นโต๊ะ ตู้เอกสารของจำเลย ผลการตรวจค้นพบเอกสารใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจะต้องมอบให้นางสาวสุมาลี หมื่นจำปา ผู้นำเงินมาส่งคืนแต่จำเลยไม่ได้ให้ไปและพบสำเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวมีรอยขูดลบ ขีดฆ่า จึงได้แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้เขียนและเป็นผู้แก้ไขเอกสารดังกล่าวจริง ได้มีการสอบสวนทางวินัยและมีคำสั่งไล่จำเลยออกจากราชการแล้ว
ส่วนความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารราชการได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้เขียนข้อความในใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.2 ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2529 ได้รับเงินจากนางสาวสุมาลี หมื่นจำปา เป็นค่าส่งคืนเงินเดือนและเงินพ.ช.ค. ประจำเดือนมิถุนายน 2529 จำนวน 1,595 บาท และลงชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงิน ต่อมาจำเลยได้นำสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับดังกล่าวมาลบและแก้ไขข้อความเป็นว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2529ได้รับเงินจากนางอรพินท์ หมื่นประเสริฐดี เป็นค่าส่งคืนเงินค่าวัสดุวิทยาศาสตร์ จำนวน 375 บาท แล้วลงชื่อจำเลยกำกับการแก้ไขปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้นางสุมาลีแล้วต่อมาได้แก้ไขสำเนาเป็นออกให้นางอรพินท์เป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของจำเลย และลงลายมือชื่อตนเองเป็นผู้ทำและผู้แก้ไขเอกสารนั้น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงที่จำเลยทำขึ้น แม้ข้อความในต้นฉบับและสำเนาจะไม่ตรงกันก็เป็นแต่เพียงจำเลยทำสำเนาเอกสารเท็จ ไม่ทำให้เอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 265 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 265 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161, 265 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share