คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2491

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

การแบ่งทรัพย์มฤดก เมื่อเจ้ามฤดกตาย เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 แล้ว ต้องแบ่งตามมาตรา 1635 และ 1636
โจทก์ฟ้องขอแบ่งมฤดก ศาลต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้
คำว่า “กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น” ตามที่มาตรา 1749 ห้ามไว้นั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยมิต้องฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 6 การแบ่งให้โจทก์เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ตามกฎหมายนั้น หาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อทายาทไม่

ย่อยาว

ความว่า โจทก์และนางผิวเล็กมารดาจำเลย เป็นภริยานายพ่วงผู้ตาย นายพ่วงตายเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ จำเลยได้ครอบครองมฤดกของนายพ่วงไว้ โจทก์จึงฟ้องขอแบ่ง โดยอ้างว่ามีสินเดิม แต่ได้จำหน่ายไปหมดระหว่างอยู่กินด้วยกัน จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยานายพ่วง หากได้เสียกันจริงก็เป็นเพียงนางบำเรอ โจทก์ไม่มีสินเดิม นายพ่วงยังมีภริยาอีกคนหนึ่งคือนางผิว หากโจทก์มีส่วนได้ก็ไม่ใช่กึ่งหนึ่ง เพราะทายาทยังมีอยู่หลายคน ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าโจทก์มีสินเดิม นางผิวเล็กและโจทก์ก็มีฐานะเป็นภริยาเท่ากัน พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์ตามบัญชีหมาย ข. กับเงินค่าเช่าทรัพย์ให้โจทก์ ๑ ใน ๔
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่า โจทก์มีสินเดิมและเห็นว่า การแบ่งมฤดกต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๓๕(๑) , ๑๖๓๖ นางผิวเล็กมารดาจำเลย ซึ่งมีสิทธิรับมฤดกร่วมกับโจทก์และจำเลยเพียง ๒ คน ซึ่งควรจะได้รับมฤดกคนละครึ่งตามมาตรา ๑๖๓๕ (๑) พิพากษาแก้ให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีหมาย ข. และค่าเช่าที่ได้จากทรัพย์ ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหม่แล้ววินิจฉัยว่า สำหรับการแบ่งมฤดกรายนี้ นายพ่วงตายเมื่อใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๖ แล้ว จึงต้องแบ่งตามมาตรา ๑๖๓๕, ๑๖๓๖ กล่าวคือ โจทก์และนางผิวเล็กสองคนรวมกันได้หนึ่งส่วน จำเลยเป็นบุตรได้หนึ่งส่วน ระหว่างโจทก์กับนางผิวเล็กได้ในส่วนนั้นคนละครึ่ง และเห็นว่า การแบ่งต้องแบ่งให้เพียงเท่าที่โจทก์มีสิทธิควรจะได้ จะแบ่งให้กึ่งหนึ่ง โดยเอาส่วนจองนางผิดเล็กไปให้โจทก์ด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอส่วนแบ่งในนามของนางผิวเล็กด้วย การแบ่งนี้ไม่ขัดกับมาตรา ๑๗๔๙ คำว่า “กันส่วนไว้เพื่อทายาทอื่น” ตามมาตรา ๑๗๔๙ ห้ามนั้น หมายความว่า กันไว้เพื่อทายาทนั้นมารับเอาไปได้ทีเดียว โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๖ เรื่องนี้ ถ้านางผิดเล็กต้องการส่วนของตน จะมารับเอาไปจากศาลไม่ได้ จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ การแบ่งให้โจทก์เพียง ๑ ใน ๔ เช่นนี้ จึงหาใช่เป็นการกันส่วนไว้เพื่อนางผิดเล็กไม่ แต่เป็นการแบ่งให้ตามสิทธิที่โจทก์ควรจะได้รับ

Share