คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2332/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่คณะกรรมการเวนคืนมีไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม2516 ความว่า ได้ประชุมพิจารณาตกลงค่าทดแทนที่ของโจทก์แล้ว คิดราคาทดแทนเฉลี่ยให้ไร่ละ 252,000 บาท ถ้าไม่มีข้อทักท้วงประการใด ขอให้ลงนามรับราคา เพื่อดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินต่อไปนั้น เป็นเพียงหนังสือของคณะกรรมการฯ แจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาตกลงค่าทดแทนที่ดินของโจทก์กันเสร็จแล้ว โดยคิดราคาทดแทนเฉลี่ยให้ไร่ละ 252,000 บาท และขอทราบความประสงค์ของโจทก์ว่ายินดีจะรับราคาตามที่เสนอมานั้นหรือไม่ อันเป็นการทำความตกลงกันในเบื้องต้นตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคแรกเท่านั้น เอกสารฉบับนี้ยังถือไม่ได้ว่าได้ตกลงกันในเรื่องนี้แล้วตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง เพราะยังไม่มีการเขียนข้อตกลงและเงื่อนไขลงไว้ และทั้งสองฝ่ายคือโจทก์กับคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน
ส่วนบันทึกข้อตกลงที่จำเลยอ้างนั้น ได้ทำตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินทดแทนซึ่งได้กำหนดไว้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2518 อันอยู่ในระยะเวลาภายใน90 วัน นับแต่วันที่ตกลงกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายนครสวรรค์ – เชียงราย แต่จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ตกลงกันคือเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2516 เพิ่งมาจ่ายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2518 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 30 ขอให้จำเลยใช้เงินดอกเบี้ยจำนวน 431,962.77 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ตกลงกับคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2518 ซึ่งเป็นการจ่ายภายในกำหนด90 วันตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเอาค่าดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าดอกเบี้ยจากจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 ได้บัญญัติเกี่ยวกับค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไว้ดังนี้
มาตรา 22 “ให้กรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทำความตกลงกับผู้มีสิทธิซึ่งไม่มีข้อโต้เถียงและพยายามทำความตกลงกันในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนอันจะต้องใช้ให้นั้น
เมื่อได้ตกลงกันในเรื่องนี้แล้ว ให้เขียนข้อตกลงและเงื่อนไขลงไว้แล้วทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน
เมื่อได้จ่ายเงินค่าทดแทนตามที่ได้ตกลงกันนั้นแล้ว ให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินอันต้องเวนคืนนั้นได้”
มาตรา 30 “ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ใช้เงินค่าทดแทนซึ่งได้กำหนดไว้ตามที่ตกลงกันเอง หรือตามที่อนุญาโตตุลาการกำหนดให้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกัน หรือวันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี”
ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นข้อตกลงกันนั้นมีข้อความดังนี้
“ที่แขวงการทางลำปาง
เรียน คุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์
เนื่องจากคณะกรรมการเวนคืนได้ประชุมพิจารณาตกลงค่าทดแทนที่ของท่านที่ถูกทางหลวงแผ่นดินสายนครสวรรค์ – เชียงรายแล้ว จำนวน 11 ไร่ 2 งาน 3 ตารางวา และคิดราคาทดแทนเฉลี่ยให้ไร่ละ 252,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นสองพันบาท)
ถ้าไม่มีข้อทักท้วงประการใด ขอให้ลงนามรับราคา เพื่อแขวงฯ จะได้จัดส่งไปกรมทางหลวง เพื่อดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินต่อไป
มหินทร ศาสตรี กรรมการเวนคืน
(ช.ข.ท.ลำปาง) ”
สุพงษ์ ศรลัมภ์ ”
(นายอำเภอเมืองลำปาง)
สุจินต์ ตินทุกะสิริ ”
(เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง)
วันที่ 20 กรกฎาคม 2516
ข้าพเจ้ายินดีรับราคาตามคณะกรรมการเสนอ
บุญเท่ง ทองสวัสดิ์
(นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์)
เจ้าของที่ดิน ”
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 ดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือของคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่มีไปถึงโจทก์เพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ประชุมพิจารณาตกลงค่าทดแทนที่ดินของโจทก์กันเสร็จแล้ว โดยคิดราคาทดแทนเฉลี่ยให้ไร่ละ 252,000 บาท และขอทราบความประสงค์ของโจทก์ว่ายินดีจะรับราคาตามที่เสนอมานั้นหรือไม่ อันเป็นการทำความตกลงกันในเบื้องต้นตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคแรก เท่านั้น เอกสารฉบับนี้ยังถือไม่ได้ว่าได้ตกลงกันในเรื่องนี้แล้วตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง เพราะยังไม่มีการเขียนข้อตกลงและเงื่อนไขลงไว้ และทั้งสองฝ่ายคือโจทก์กับคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน ส่วนบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างนั้นได้ทำตามแบบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคสอง โดยมีทั้งข้อตกลงและเงื่อนไขและทั้งสองฝ่ายคือโจทก์กับคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานบันทึกข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 นี้ได้ทำกันไว้เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2518 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งได้กำหนดไว้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้โจทก์ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2518 อันอยู่ในระยะเวลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ตกลงกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยจากจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 30 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องตามคำแก้ฎีกาของจำเลยต่อไป
พิพากษายืน

Share