คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6940/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลพิพากษาให้โจทก์แบ่งทรัพย์ให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามฟ้องแย้งควรระบุวิธีการแบ่งให้ชัดเจนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 คือถ้าการแบ่งไม่ตกลง ก็ให้ขายโดยประมูลราคาในระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาด เพื่อมิให้เกิดเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดีเพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 การบังคับคดีจะต้องอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา และมาตรา 272วรรคแรก บัญญัติให้ศาลออกคำบังคับโดยกำหนดวิธีที่จะปฎิบัติตามคำบังคับไว้ด้วย จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์กึ่งหนึ่ง โดยระบุราคาทรัพย์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน ซึ่งมีความหมายว่าถ้าการแบ่งตัวทรัพย์ไม่อาจเป็นไปได้ ก็ขอแบ่งส่วนเป็นเงิน การให้ขายเอาเงินแบ่งกันจึงไม่เกินคำขอในฟ้องแย้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14442เนื้อที่ 159/10 ตารางวา โดยซื้อมาจากพลตำรวจตรีสุดสงวน ตัณสถิตย์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2516 ก่อนโจทก์จะซื้อที่ดินดังกล่าวโจทก์มีปัญหากับภรรยาซึ่งหย่าร้างกันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2516และกำลังจะแบ่งสินสมรสกัน ถ้าโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินคนเดียว ภรรยาโจทก์จะขอแบ่งที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยซึ่งเป็นน้องชายของโจทก์ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวร่วมกับโจทก์ เพื่ออำพรางให้ภรรยาโจทก์เข้าใจว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับโจทก์ ความจริงโจทก์ออกเงินซื้อแต่ผู้เดียวจำเลยยินยอมถือกรรมสิทธิ์รวมแทนโจทก์ ถ้าโจทก์ต้องการที่ดินคืนจำเลยจะยอมถอนชื่อออก บัดนี้โจทก์กับภรรยาหย่าร้างกันและแบ่งทรัพย์สินกันแล้ว ไม่จำต้องอำพรางต่อไป โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกับโจทก์ในที่ดินพิพาทคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยจำเลยกับโจทก์ร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ขาดเงินอยู่ 100,000 บาท จำเลยกับโจทก์ได้ไปกู้เงินจากบริษัทกรุงเทพสหมิตรเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยจำนองที่ดินดังกล่าวไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยกับโจทก์ได้ร่วมกันหาเงินไปชำระและไถ่ถอนจำนองแล้ว การที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินมิใช่เพื่ออำพรางภรรยาโจทก์ ถ้าโจทก์ประสงค์มิให้ภรรยาโจทก์เข้ามาขอแบ่งที่ดิน ก็น่าจะต้องให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนถอนชื่อออกจากโฉนดที่ดิน จำเลยไม่เคยรับหนังสือนั้น ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้บังคับโจทก์แบ่งโฉนดที่ดินตามฟ้องพร้อมอาคารตึกแถวสองชั้นบนที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กันหากโจทก์ไปปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์ที่ดินพิพาทพร้อมอาคารตึกแถวมีราคา 600,000 บาท จำเลยถือเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องแย้งกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 300,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวบนที่ดินแต่เพียงผู้เดียวในราคา 147,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยเพื่ออำพรางภรรยาโจทก์ ข้อที่จำเลยขอให้โจทก์แบ่งที่ดิน ซึ่งมีเนื้อที่เพียง 15 9/10 ตารางวาและมีตึกแถวเต็มเนื้อที่ จึงไม่อาจแบ่งแยกได้ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 14442ถนนเจริญเวียง ตำบลสีลม (สาธร) อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร(กรุงเทพมหานคร) และอาคารตึกแถวเลขที่ 3 ที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยครึ่งหนึ่งตามฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แบ่งทรัพย์ให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามฟ้องแย้งนั้น ควรต้องระบุวิธีการแบ่งให้ชัดเจน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364คือถ้าการแบ่งไม่ตกลงก็ให้ขายโดยประมูลราคาในระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาด ทั้งนี้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีเพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 นั้นการบังคับคดีจะต้องอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาและมาตรา 272 วรรคแรก บัญญัติให้ศาลออกคำบังคับโดยกำหนดวิธีที่จะปฎิบัติตามคำบังคับไว้ด้วย กรณีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งทรัพย์กึ่งหนึ่ง โดยระบุราคาทรัพย์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 300,000 บาทและเสียค่าขึ้นศาลมาในทุนทรัพย์นี้ ซึ่งมีความหมายว่าถ้าการแบ่งตัวทรัพย์ไม่อาจเป็นไปได้ก็ขอแบ่งส่วนเป็นเงิน ดังนี้ การให้ขายเอาเงินแบ่งกัน จึงไม่เกินคำขอในฟ้องแย้ง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขโดยกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์ให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าการแบ่งที่ดินและตึกแถวพิพาทไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ขายโดยประมูลราคาในระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้จำเลยกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share