แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่าเรือฉลอมลำเกิดเหตุซึ่งบรรทุกสินค้า 155 ถุง น้ำหนัก 186 ตัน จากที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุดได้ 190 ตันเศษ ถูกนำไปจอดรวมกับเรืออีก 4 ลำ อยู่ที่ทุ่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่จอดเรือเป็นทางเข้าออกของเรือเดินสมุทรหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ย่อมจะคาดหมายได้ว่าจะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ได้ การที่เรือฉลอมบรรทุกสินค้าเต็มลำเรือเสมอกาบเรือโดยเรือพ้นจากผิวน้ำไม่เกิน 1 ศอก เมื่อถูกคลื่นขนาดใหญ่กระแทกน้ำย่อมเข้าเรือได้โดยง่าย ยิ่งนำไปผูกรวมกับเรืออื่น ๆ อีก 4 ลำ ทำให้เรือกระแทกกันเอง เพิ่มความรุนแรงในการกระแทกมากขึ้นและน้ำย่อมจะเข้าเรือได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการระมัดระวังจัดการป้องกันมิให้น้ำเข้าเรือเมื่อโดนคลื่นขนาดใหญ่กระแทกอย่างไรบ้าง การนำเรือมาจอดที่ทุ่นจอดเรือและบรรทุกสินค้าไม่เกินพิกัดสูงสุดที่จะบรรทุกได้โดยไม่จัดการระมัดระวังป้องกันเป็นพิเศษอย่างใดเลย ไม่เป็นการป้องกันตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าทางเรือ แม้ว่าเมื่อเรือฉลอมดังกล่าวจมลง ผู้ควบคุมเรือได้ตัดเชือกที่ผูกโยงกับเรือลำอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการป้องกันมิให้เรือลำอื่น ๆ ต้องจมลงไปด้วย มิใช่การป้องกันเรือลำเกิดเหตุ เรือฉลอมจมลงและสินค้าเสียหายจึงมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,696,296.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,553,897.22 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ร้องขอให้เรียกบริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 3,553,897.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ให้จำเลยร่วมรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทเทยิ่น โพลีเอสเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญารับขนนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นผู้นำเรือฉลอมมาใช้ในการขนส่งสินค้าที่ถ่ายมาจากเรือใหญ่เพื่อขนส่งไปยังท่าเรือจังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่เป็นคู่สัญญากับบริษัทเทยิ่น โพลีเอสเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจากเรือฉลอมจมลงในระหว่างการดูแลรักษาสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 โดยไม่จำต้องเป็นคู่สัญญากับบริษัทเทยิ่น โพลีเอสเตอร์ จำกัด โดยตรง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฎีกาในทำนองเดียวกันว่า เรือ ส.หงี่ฮั้ว จมและสินค้าพิพาทเสียหายเพราะเรือสินค้าขนาดใหญ่แล่นผ่านทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่กระแทกใส่จนน้ำเข้าเรือ ส.หงี่ฮั้ว จม มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 และเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่ง ป.พ.พ. มาตรา 616 บัญญัติให้ผู้ขนส่งรับผิดในการที่ของอันเขามอบหมายสูญหายหรือบุบสลาย เว้นแต่การสูญหายหรือบุบสลายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ขนส่งจะประมาทเลินเล่อหรือไม่ เหตุสุดวิสัย หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เมื่อเรือฉลอม ส.หงี่ฮั้ว ลำเกิดเหตุบรรทุกสินค้า 155 ถุง น้ำหนัก 186 ตัน จากที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุด 190 ตันเศษ แล้วนำไปจอดผูกรวมกับเรืออีก 4 ลำ ที่ทุ่นจอดเรือดังกล่าว ได้ความว่าบริเวณท่าเรือกรุงเทพที่จอดเรือเป็นทางเข้าออกของเรือเดินสมุทรหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ย่อมจะพึงคาดหมายได้ว่าจะทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ได้เป็นธรรมดา การที่เรือฉลอม ส.หงี่ฮั้ว บรรทุกสินค้าเต็มลำเรือ เสมอกาบเรือโดยเรือพ้นจากผิวน้ำไม่เกิน 1 ศอก เมื่อถูกคลื่นขนาดใหญ่กระแทกน้ำย่อมเข้าเรือได้โดยง่ายยิ่งนำไปผูกรวมกับเรืออื่น ๆ อีก 4 ลำ ทำให้เรือกระแทกกันเอง เพิ่มความรุนแรงในการกระแทกมากขึ้น และน้ำย่อมจะเข้าเรือได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการระมัดระวังจัดการป้องกันมิให้น้ำเข้าเรือเมื่อโดนคลื่นขนาดใหญ่กระแทกอย่างไรบ้าง การนำเรือมาจอดที่ทุ่นจอดเรือและบรรทุกสินค้าแม้ไม่เกินพิกัดสูงสุดที่จะบรรทุกได้ แต่ไม่จัดการระมัดระวังป้องกันพิเศษแต่อย่างใดเลย ไม่เป็นการป้องกันตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าทางเรือ แม้ว่าเมื่อเรือฉลอม ส.หงี่ฮั้ว จมลง นายห้อยจะได้ตัดเชือกที่ผูกโยงกับเรือลำอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการป้องกันมิให้เรือลำอื่น ๆ ต้องจมลงไปด้วย มิใช่การป้องกันเรือลำเกิดเหตุ เหตุเรือฉลอม ส.หงี่ฮั้ว จมลง และสินค้าเสียหาย จึงมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากรมธรรม์ที่ทำกับจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยร่วมในวงเงิน 28,316,250 บาท จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายเท่ากับจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามกรมธรรม์เปิดและคำแปลมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดไว้ลำละ 3,000,000 บาท จำเลยร่วมจะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เพียง 3,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์.