คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1057/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า การกู้ยืมเงินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์การที่จำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ห้ามพนักงานปล่อยเงินกู้ โดยถือเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง เป็นการออกระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อุทธรณ์ข้อนี้ โจทก์มิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องและจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เคยปล่อยเงินกู้ แต่ภริยาของโจทก์ปล่อยเงินกู้จะถือเอาการกระทำของภริยาโจทก์เป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้นั้น ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ปล่อยเงินกู้ให้พนักงานของจำเลยโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์อุทธรณ์ว่า ส. เบิกความต่อศาลว่า เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์แต่เป็นการกู้ยืมกันก่อนที่จำเลยจะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องห้ามพนักงานปล่อยเงินกู้ โจทก์จึงมิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยคดีนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากจำเลยออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว โจทก์จึงให้พนักงานของจำเลยกู้เงิน อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
แม้การที่โจทก์ให้พนักงานของจำเลยกู้เงินจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือแต่การที่โจทก์ให้พนักงานของจำเลยกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 15 ต่อ15 วัน หรือร้อยละ 30 ต่อเดือน เห็นได้ว่าเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในกรณีร้ายแรง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสองโดยได้รับโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2530 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้ากะประกอบและบรรจุ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,200 บาทและรับโจทก์ที่ 2 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานจัดเตรียมชิ้นส่วน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,240 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2541 จำเลยที่ 2มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง กล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองปล่อยเงินให้พนักงานของจำเลยที่ 2 กู้ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 30 ต่อเดือน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1วินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 07/2541 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงเพราะเป็นการฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องและใช้ดุลพินิจไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองไม่เคยปล่อยเงินกู้ จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายคนละ 200,000 บาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 07/2541 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2541 และบังคับจำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,213 บาท ให้โจทก์ที่ 1จำนวน 4,576 บาท ให้โจทก์ที่ 2 ค่าชดเชยจำนวน 112,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1 จำนวน62,400 บาท ให้โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองได้ฝ่าฝืนข้อบังคับและประกาศของจำเลยที่ 2 โดยปล่อยเงินให้ลูกจ้างอื่นของจำเลยที่ 2 กู้โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน และร้อยละ 30 ต่อเดือน จำเลยที่ 2 จึงมีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงานเนื่องจากฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอย่างร้ายแรงโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินต่าง ๆ ตามที่เรียกร้องจำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 07/2541 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2541วินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองปล่อยเงินกู้ให้แก่พนักงานในโรงงาน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อ 15 วัน หรือร้อยละ 30 ต่อเดือนเป็นการผิดระเบียบวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ประการแรกว่าการกู้ยืมเงินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การที่จำเลยที่ 2 ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ห้ามพนักงานปล่อยเงินกู้ โดยถือเป็นความผิดในกรณีร้ายแรงจึงเป็นการออกระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ข้อนี้โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายไว้ในคำฟ้องและจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ประการที่สองว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยปล่อยเงินกู้ แต่ภริยาของโจทก์ที่ 1 ปล่อยเงินกู้ จะถือเอาการกระทำของภริยาโจทก์ที่ 1 เป็นความผิดของโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2ปล่อยเงินกู้ให้พนักงานของจำเลยที่ 2 โดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ประการที่สามว่า นายสำราญ บุญเชียง เบิกความต่อศาลว่า เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ที่ 1 แต่เป็นการกู้ยืมกันก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเรื่องห้ามพนักงานปล่อยเงินกู้ โจทก์ที่ 1 จึงมิได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ศาลแรงกลางฟังข้อเท็จจริงว่าหลังจากจำเลยที่ 2 ออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.2 แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงให้พนักงานของจำเลยที่ 2 กู้เงินอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสอง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การให้กู้เงินนั้นทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650, 653 และ 654 หากคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี กฎหมายบัญญัติให้ลดลงเหลือร้อยละ 15 ต่อปี และสถาบันการเงินในประเทศไทยสามารถเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่โจทก์ทั้งสองให้พนักงานของจำเลยที่ 2กู้เงินนั้นก็ไม่ได้ทำหลักฐานสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ นับว่าเป็นคุณแก่ผู้กู้ยืม อีกทั้งไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยที่ 2 เสียหาย ไม่มีการทะเลาะวิวาทกันในหมู่พนักงานที่กู้ยืมเงิน จึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า แม้การที่โจทก์ทั้งสองให้พนักงานของจำเลยที่ 2 กู้เงินจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ทั้งสองให้พนักงานของจำเลยที่ 2 กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 15 ต่อ 15 วัน หรือร้อยละ 30 ต่อเดือน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในกรณีร้ายแรง

พิพากษายืน

Share